นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ระหว่างวันที่ 19-30 ส.ค. 2567 จากผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 106 แห่ง พบ 60% คาดการณ์รายได้รวมของธุรกิจโรงแรมกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 โดยมีรายได้รวมสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แบ่งเป็นสัดส่วน 32% มีรายได้สูงกว่าก่อนโควิด และ 28% รายได้ใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด
ทั้งนี้ โรงแรมที่มีรายได้เข้าสู่สภาวะปกติส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป โดยเป็นผลจากการปรับขึ้นราคาห้องพัก และจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่โรงแรมอีก 40% ยังฟื้นตัวได้ช้า โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมามีรายได้เท่ากับช่วงปกติในไตรมาส 2 ปี 2568 เนื่องจากปรับราคาห้องพักได้ยาก เพราะลูกค้ามีความอ่อนไหวต่อราคาและเผชิญกับการแข่งขันสูง จึงไม่สามารถปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้
สำหรับโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว ส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ยต่อวัน อยู่ที่น้อยกว่า 1,500 บาท ขณะที่ราว 50% ของโรงแรมระดับ 4 ดาว มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-2,499 บาท โรงแรมระดับ 5 ดาวขึ้นไปกว่า 40% มีราคาเฉลี่ยสูงกว่า 5,000 บาท หากพิจารณารายภูมิภาค พบว่าโรงแรมในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนใหญ่มีราคาห้องพักเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่น ขณะที่โรงแรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 40% มีราคาห้องพักต่ำกว่า 1,000 บาท
“โรงแรมที่มีรายได้สูงกว่า หรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด มาจากการปรับราคาห้องพักให้สูงขึ้น เนื่องจากมีการปรับปรุงห้องพักและการให้บริการที่ดีขึ้น มีลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเน้นทำโปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขาย ขณะที่โรงแรมอีก 40% ยังมีรายได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 และส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วง ไตรมาส 2 ปี หน้า นอกจากนี้ มีธุรกิจโรงแรม 7% ประเมินว่ารายได้จะไม่สามารถกลับสู่ระดับเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับไม่เกิน 3 ดาว ซึ่งโรงแรมระดับ 3 ดาวราว 20% ยังเผชิญยอดจองห้องพักที่ลดลง”
นายเทียนประสิทธิ์ กล่าวว่า อัตราการเข้าพักเดือนส.ค. 2567 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเดือนเดียวกันปีก่อน อัตราเข้าพักอยู่ที่ 62% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและเดือนเดียวกันปีก่อน หากแบ่งเป็นรายภาค พบว่าเดือนก.ค.-ส.ค. 2567 ภาคเหนือ อัตราเข้าพัก เดือนก.ค. 42.4% เดือนส.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 50% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราเข้าพัก เดือนก.ค. 44.4% เดือนส.ค. ลดลงเหลือเป็น 36.1% ภาคตะวันออก อัตราเข้าพัก เดือนก.ค. 58.8% เดือนส.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 65.5%
ภาคกลาง อัตราเข้าพัก เดือนก.ค. 67.8% เดือนส.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 71.5% และภาคใต้ อัตราเข้าพัก เดือนก.ค. 57.3% เดือนส.ค. เพิ่มขึ้นเป็น 61.2% สำหรับสถานการณ์การจ้างงาน เดือนส.ค. ที่ผ่านมา ในภาพรวมโรงแรมที่เผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยโรงแรมกว่า 40% ยังคงเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่กระทบเพียงคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบความสามารถในการรองรับลูกค้า ทั้งนี้ โรงแรมในภาคกลางมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าภาคอื่น