ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกษตรกรไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันหลายด้าน ตั้งแต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กติกาใหม่ของคู่ค้า ราคาพลังงานที่ผันผวน ค่าเงินที่แปรปรวน ไปจนถึงปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่คุกคามอาชีพเกษตรกรรม
10 ปี จีดีพีภาคเกษตรลดฮวบ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่ทางการเกษตรกว่า 147 ล้านไร่ หรือกว่า 46% ของพื้นที่ทั่วประเทศ มีประชากรอยู่ในภาคการเกษตรกว่า 30 ล้านคน ล่าสุดจีดีพีภาคเกษตร มีสัดส่วนอยู่ที่ 8.58% ของจีดีพีประเทศ ลดลงจาก 10 ปีก่อนที่มีสัดส่วนกว่า 11% เนื่องจากมีบางส่วนถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม หากมองภาพรวมแล้วภาคการเกษตรจะมีส่วนในการเติบโตของจีดีพีสูงถึง 30%
ฝนแล้ง-น้ำท่วมฉุดจีดีพีปี 67
ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ให้ข้อมูลว่าภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2567 หดตัว 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยสาขาพืช สาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตรหดตัว สาขาพืช เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องมาต้นปี 2567 ทำให้ปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชสำคัญหลายชนิด เกษตรกรบางส่วนงดหรือปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชบางชนิด
ซ้ำร้ายช่วงเดือนก.ย. 2567 ยังเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมและมีฝนตกหนัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำสะสมจำนวนมาก เกิดอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย พืชสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดปัตตาเวีย ยางพารา ทุเรียน และเงาะ อย่างไรตาม พืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.8-2.8% เนื่องจากคาดว่าเกษตรกรจะมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการทำเกษตร ซึ่งจะทำให้สินค้าทางเกษตรโดยเฉพาะสินค้าประเภทพืชมีผลผลิตที่มาก และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้าได้มากขึ้น
เทคโนโลยีทางรอดเกษตรกรไทย
นางนฤมลกล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้การปรับตัวจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่กลายเป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในโลกยุคใหม่ จากนี้ต่อไปจะมุ่งยกระดับสินค้าเกษตร โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมทำงานเพื่อยกระดับราคา ผลิตสินค้าที่โลกต้องการมากขึ้น
สำหรับแนวทางการพัฒนาภาคเกษตร จะต้องใช้ทั้งความรู้ ทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.การรับมือกับภัยธรรมชาติ มีการวางแผนและดำเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การป้องกัน แก้ไขปัญหาและฟื้นฟู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ
‘นฤมล’ พร้อมรับมือภัยธรรมชาติ
ที่ผ่านมาในตลอดห่วงโซ่ราคาสินค้าเกษตร ตั้งแต่เกษตรกรไปจนถึงผู้ส่งออกหรือผู้บริโภค กำไรจะเกิดในส่วนกลางหรือพ่อค้าคนกลางให้มากที่สุด จึงได้สั่งให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ไปดำเนินการขับเคลื่อนกลไกราคาให้กำไรตกถึงมือเกษตรกรให้ได้มากที่สุด โดยให้ไปศึกษาการจัดตั้ง “ล้งแห่งชาติ” เพื่อรวบรวมสินค้าจากเกษตรกร ส่งถึงผู้บริโภค เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ราคาสินค้าเกษตร ตัดตอนพ่อค้าคนกลางและล้งต่างประเทศที่เอาเปรียบเกษตรกร
แนวโน้มปี 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางในการรับมือกับภัยธรรมชาติ ด้วยดําเนินมาตรการเชิงรุกร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล บริหารจัดการความเสี่ยงให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุน และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง พร้อมมุ่งเน้นการทำเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของเศรษฐกิจแบบ BCG รองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
2.การประกันภัยสินค้าเกษตร โดยการส่งเสริมการประกันภัยพืชผล เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอน 3.การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และต่อยอดสู่เกษตรและบริการมูลค่าสูง
4.การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางของ BCG โดยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น EUDR CBAM และ Carbon Credit การแก้ปัญหา PM 2.5 ส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ และส่งเสริมการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน
นางนฤมลกล่าวว่า ล่าสุดมีสินค้าเกษตรที่เกษตรกรเปลี่ยนมาเพาะปลูกมากขึ้น อาทิ ทุเรียนที่เป็นพระเอกของการส่งออก เงาะ โคเนื้อ เป็นต้น ส่วนยางพาราก็มุ่งยกระดับ การเป็นยาง อียูดีอาร์ หลังสหภาพยุโรป (อียู) ได้ประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation:EUDR) ซึ่งขณะนี้น่าจะมีเพียงไทยเท่านั้นที่พร้อมขายไปในประเทศที่เข้มงวดกฎอียูดีอาร์
“กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตพืช หรือสินค้าที่โลกต้องการมากขึ้น เพื่อเป้าหมายให้อนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง สามารถมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามจีดีพีประเทศที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายครองส่วนแบ่งของจีดีพีประเทศได้เพิ่มเป็น 35%”
5.การยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง การสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอโดยเน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 6.การพัฒนาเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์ภาคเกษตรในระดับโลก โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อใช้วิเคราะห์ เตือนภัย และเฝ้าระวังปัจจัยที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อการทำการเกษตร
และ 7.การปรับปรุงกฎระเบียบ/กฎหมาย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการศึกษากฎระเบียบและกฎหมายของประเทศคู่ค้าที่จะมีผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรของไทย เพื่อการปรับตัวและเตรียมการให้ทันต่อสถานการณ์
โลกที่เปลี่ยนแปลงกำลังผลักดันให้เกษตรกรไทยต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน การทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่เพียงพอต่อการรับมือภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เกษตรกรยุคใหม่จึงต้องผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับนวัตกรรมเพื่อความอยู่รอดและความยั่งยืน
ดังนั้น เทคโนโลยี นวัตกรรม คือ ‘โอกาสและทางรอด’ สินค้าเกษตรไทย