สรุปภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวันที่ 23 ก.ย. 2564 โดยดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในแดนบวกตลอดทั้งวันทำให้ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1,631.15 จุด เพิ่มขึ้น 11.56 จุด บวก +0.71% ระหว่างวันดัชนีทำระดับสูงสุด 1,637.65 จุด และต่ำสุดที่ 1,623 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 140,532.64 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิหุ้นไทย 3,786.59 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 1,128.30 ล้านบาท นักลงทุนสถาบัน ขายสุทธิ 1,012.77 ล้านบาท และนักลงทุนในประเทศ ขายสุทธิ 3,902.12 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น SCB ปิดตลาดที่ราคาหุ้นละ 130.50 บาท เพิ่มขึ้น +20.50 บาท หรือ บวก 18.72% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 21,250 ล้านบาท ติดอันดับหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุด อีกทั้งยังดึงให้ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นทั้งกลุ่ม โดย ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ปิดที่ 131 บาท เพิ่มขึ้น 9 บาท หรือ 7.38% โดยติดหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดอันดับ 2 ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 19,433 ล้านบาท ส่วนธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ราคาปิดที่ 117.50 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท บวก 3.52% ธนาคารกรุงไทย KTB ปิดที่ 11.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท บวก 2.68% ธนาคารทหารไทยธนชาติ TTB ปิดที่ 1.12 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท บวก 3.7% และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา BAY ปิดที่ 32.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือบวก 3.97%

ขณะเดียวกันยังมีผลต่อหุ้นกลุ่มการเงินร่วงลงด้วยเช่นกัน โดย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) TIDLOR ซึ่งให้บริการสินเชื่อราย่อย ร่วงลง มาปิดที่ 36.25 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 1.25 บาท หรือ ลบ 3.33% บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS ปิดที่ 191.50 บาท ลดลง 7.50 บาท หรือลบ 3.77% บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT ปิดที่ 34 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 0.50 บาท ลบ 1.45% และ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTC ปิดที่ 59.75 บาท ลดลง 1 บาท หรือ ลบ 1.65% เป็นต้น

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นโดยเป็นการเก็งกำไรในกลุ่มธนาคาร หลังจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ทำให้คาดการณ์ว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จะปรับโครงสร้างในลักษณะเดียวกัน ส่งผลให้ภาพรวมกลุ่มธนาคารดีขึ้น

ส่วนกลุ่มการเงินและบัตรเครดิตรับแรงกดดันจากคาดการณ์ว่าการแข่งขันจะรุนแรงขึ้น หลังจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อไม่มีหลักประกันและบัตรเครดิต ทำให้ราคาหุ้นปรับลงมา

ประกอบกับปัจจัยต่างประเทศก็เป็นบวกจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณทยอยปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ไปถึงกลางปี 2565 โดยคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.-พ.ย. 2564 ด้วยการลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรราว 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ/เดือน จากเดิมคลาดคาดที่ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่าลดวงเงินคิวอีช้ากว่าที่ตลาดคาด

อย่างไรก็ดี แนวโน้มดัชนีเมื่อผ่าน 1,620 จุด ขึ้นมาได้ทำให้ทิศทางตลาดโดยภาพรวมดีขึ้น คาดว่าสัปดาห์หน้าตลาดหุ้นจะยกกรอบการแกว่งตัวขึ้นมาโดยให้แนวรับที่ 1,620 จุด แนวต้านที่ 1,650 จุด

สำหรับ 5 หลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด ได้แก่

1. SCB มูลค่าการซื้อขาย 21,242.57 ล้านบาท ปิดที่ 130 บาท เพิ่มขึ้น 20.50 บาท
2. KBANK มูลค่าการซื้อขาย 19,395.60 ล้านบาท ปิดที่ 131 บาท เพิ่มขึ้น 9 บาท
3. TRUE มูลค่าการซื้อขาย 6,535.41 ล้านบาท ปิดที่ 3.94 บาท เพิ่มขึ้น 0.22 บาท
4. BBL มูลค่าการซื้อขาย 5,163.66 ล้านบาท ปิดที่ 117.50 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท
5. TIDLOR มูลค่าการซื้อขาย 2,777.02 ล้านบาท ปิดที่ 36.25 บาท ลดลง 1.25 บาท


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน