สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนที่ 31.46 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนปลายสัปดาห์ โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ ปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีของสหรัฐ หลังดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ ที่เพิ่มมากกว่าคาดในเดือนพ.ค. ทำให้ความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อกลับมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ ยังแข็งค่าได้ต่อเนื่อง หลังการประชุมเฟดรอบล่าสุดส่งสัญญาณเตรียมถอยออกจากมาตรการทางการเงินเชิงผ่อนคลาย ซึ่งทำให้ตลาดประเมินว่า อาจมีการเริ่มชะลอ QE ในปีหน้า และตามมาด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2566 ในวันศุกร์ (18 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.43 เทียบกับระดับ 31.08 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (11 มิ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.20-31.60 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนพ.ค. ผลการประชุมนโยบายการเงินและประมาณการเศรษฐกิจไทยของกนง. สถานการณ์และแผนการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ในประเทศ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคา PCE/Core PCE Price Index เดือนพ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/64 (ครั้งที่ 3) นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีนด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยร่วงลงเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,612.98 จุด ลดลง 1.44% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 92,767.00 ล้านบาท ลดลง 6.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 0.11% มาปิดที่ 505.51 จุด หุ้นไทยร่วงลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ ตามแรงกดดันในหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการปรับทบทวนเพดานสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียน หลังรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังเฟดส่งสัญญาณอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิม นอกจากนี้ แผนการกระจายวัคซีนในประเทศที่ยังมีความท้าทายก็เป็นปัจจัยลบต่อหุ้นไทยเช่นกัน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (21-25 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,585 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,625 และ 1,635 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (23 มิ.ย.) ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค. ของไทย สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงรายระเอียดเกี่ยวกับแผนการเปิดประเทศ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index และรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนมิ.ย. ของจีน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน