บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าผ่านแนว 33.00 มาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 3 สัปดาห์ที่ 33.26 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับแรงขายสุทธิพันธบัตรไทย ของนักลงทุนต่างชาติ (ภาพรวมทั้งสัปดาห์ขายสุทธิทั้งสิ้น 26,800 ล้านบาท) ขณะที่เงินดอลลาร์ มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐ หลังจากข้อมูลยอดค้าปลีก และผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียที่ออกมาดีกว่าที่คาด กระตุ้นให้มีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ เนื่องจากประเมินว่า เฟดอาจให้สัญญาณบางอย่างเกี่ยวกับการปรับลดวงเงิน QE ในการประชุมวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ ในวันศุกร์ (17 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.67 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC (21-22 ก.ย.) ประมาณการเศรษฐกิจและ Dot Plot ของเฟด เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ตัวเลขการส่งออกและสถานการณ์โควิดของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย. การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอังกฤษ การกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของธนาคารกลางจีน และข้อมูล PMI (เบื้องต้น) เดือนก.ย. ของสหรัฐ ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,625.65 จุด ลดลง 0.59% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 85,757.98 ล้านบาท ลดลง 5.41% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.00% มาปิดที่ 554.20 จุด หุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ตามตลาดหุ้นในภูมิภาคที่ถูกกดดันจากความ กังวลเกี่ยวกับมาตรการกำกับดูแลภาคธุรกิจของทางการจีน นอกจากนี้ ยังมีแรงขายในหุ้นที่มีฟรีโฟลตต่ำ (โดยเฉพาะหุ้นของบริษัทในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์) หลังมีรายงานข่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมที่จะพิจารณาปรับเกณฑ์ในการหาหุ้นเข้า SET50 และ SET100 อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวขึ้นช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและสถาบันในประเทศ ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ตามแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่การปรับน้ำหนัก FTSE Rebalance เริ่มมีผลในวันที่ 17 ก.ย.

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (20-24 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,580 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,645 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมเฟด (21-22 ก.ย.) สถานการณ์โควิด ประเด็นการเมืองไทย ตัวเลขส่งออกเดือนส.ค. ของไทย ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ ตลอดจนประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของจีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนส.ค. รวมถึงดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม BOJ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.ย. ของจีน ตลอนจนดัชนี PMI เดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน