บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (27 ก.ย.-1 ต.ค. 2564) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีที่ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ แต่สามารถฟื้นตัวได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง ท่ามกลางแรงซื้อเงินดอลลาร์ ในช่วงสิ้นไตรมาส ประกอบกับมีแรงกดดันจากสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ เพิ่มช่วงบวกได้ต่อตามกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการถอยออก จากมาตรการผ่อนคลายของเฟดในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดี เงินบาทฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ มีปัจจัยลบจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่เพิ่มมากกว่าที่คาดประกอบกับตลาดยังติดตามปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ อย่างใกล้ชิด ในวันศุกร์ (1 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.63 เทียบกับระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (23 ก.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ สถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ อาทิ อัตราการว่างงาน ตัวเลขค่าจ้าง ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนก.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.ย. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน แต่ยังไม่หลุดแนว 1,600 จุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,605.17 จุด ลดลง 1.59% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,836.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.77% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.19% มาปิดที่ 543.41 จุด หุ้นไทยร่วงลงแรงเกือบตลอดสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ประกอบกับมีแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันซึ่งอาจเกิดจากการทำ Window Dressing ก่อนปิดไตรมาส 3/64

นอกจากนี้ ความกังวลต่อสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน ความเสี่ยงเงินเฟ้อ และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ ก็เป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศการลงทุนของตลาดหุ้นภูมิภาค รวมถึงหุ้นไทย ในช่วงปลายสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (4-8 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,590 และ 1,580 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,610 และ 1,620 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศ การประชุมโอเปกพลัส (4 ต.ค.) ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ

ตลอดจนสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน และดัชนี PMI เดือนก.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลดัชนี PMI เดือนก.ย. ของยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน ตลอดจนดัชนีราคาผู้ผลิตและยอดค้าปลีกเดือนส.ค. ของยูโรโซน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน