บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ (27-31ต.ค. 2564) สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบผันผวน แต่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ ขาดแรงหนุนหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ย่อตัวลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.60%

อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ตามค่าเงินหยวนและสกุลเงินเอเชีย ท่ามกลางความกังวลต่อสัญญาณเปราะบางของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน แต่เงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ หลังเงินดอลลาร์ ถูกดดันจากข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาด ในวันศุกร์ (29 ต.ค.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.20 เทียบกับระดับ 33.39 บาทต่อดอลลาร์ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (21 ต.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.70 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางอังกฤษ ทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนต.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูลดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนต.ค. ของจีน ยูโรโซน อังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,623.43 จุด ลดลง 1.22% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 70,950.70 ล้านบาท ลดลง 10.19% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.18% มาปิดที่ 558.65 จุด หุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ ทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ประกอบกับมีรายงานข่าวว่าพบโควิดสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย รวมถึงแรงเทขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างชาติ

ทั้งนี้ หุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นได้ช่วงสั้นๆ ก่อนจะร่วงลงอีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ เนื่องจากไม่มีปัจจัยหนุนใหม่ๆ เข้ามา ประกอบกับมีแรงขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มพลังงาน/ปิโตรเคมี ตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ย่อตัวลง ตลอดจนแรงขายลดเสี่ยงของนักลงทุนก่อนการประชุมเฟด ซึ่งประเมินว่าอาจจะมีการประกาศปรับลดวงเงินการทำ QE

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,650 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (1 พ.ย.) การประชุมเฟด (2-3 พ.ย.) การประชุม OPEC+ (4 พ.ย.) สถานการณ์โควิด ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบจ.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานเดือนต.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและจีน ตลอดจนยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนก.ย. ของยูโรโซน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน