พลันที่ นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา แห่งชาติ หรือ พศ.ออกมายืนยัน

ยืนยันในคดี “รถโบราณ”
“สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว”
ความสงสัย คลางแคลง ก็บังเกิด
1 บังเกิดต่อบทสรุปของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 1 วิถีดำเนินแห่งรูปคดี อันมีจุดเริ่มมาจาก”ดีเอสไอ”
ยิ่งหากตาม”แถลง”จาก นายพนม ศรศิลป์ อย่างละเอียด
“ก่อนที่ดีเอสไอจะยื่นเสนออัยการก็ไม่มีชื่อ สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการได้มาของรถเบนซ์โบราณอยู่แล้ว”
ฟังอย่างนี้เสียงร้อง “อ้าว” ย่อมดังขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกัน
“จึงอยากให้สังคมเข้าใจด้วยว่า สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ท่านไม่ได้มีมลทินเกี่ยวกับเรื่องรถเบนซ์โบราณแต่อย่างใด”
ถามว่าแล้ว”มลทิน”เกิดขึ้นได้อย่างไร

จะทำความเข้าใจต่อกรณีนี้จำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อ 2-3 ประเด็นอันเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กัน
1 ประเด็นของ “รถ”
สงสัยหรือไม่ว่าเหตุปัจจัยใดทำให้ “รถโบราณ” กลายเป็น”รถหรู”
เพราะหากเป็น “รถโบราณ” เรื่องก็ไม่ใหญ่
ทันทีที่มีการขยายรถโบราณให้กลายเป็น “รถหรู” ย่อมส่งผลสะเทือนต่อ “สมณสารูป”โดยอัตโนมัติ
1 ประเด็นของ “ผู้ถูกกล่าวหา”
ผู้ถูกกล่าวหาตามสำนวนที่ดีเอสไอส่งไปให้อัยการมีแต่เพียง “หลวงพี่แป๊ะ” เท่านั้น
ไม่มี สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์
เพราะฉะนั้น คำสั่งฟ้องอันออกมาจากอัยการจึงเกี่ยวข้องกับ “หลวงพี่แป๊ะ”เท่านั้น
ไม่มี สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์

ต่อให้ดีเอสไอได้หนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุด ต่อให้การดำเนินคดี “รถเบนซ์โบราณ” ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการ
อย่างมากก็เป็นเรื่องของ “หลวงพี่แป๊ะ”
ผู้ต้องหาและจำเลยตั้งแต่ 1-6 ก็ล้วนแต่เป็นนายหน้าค้ารถและอู่ซึ่งปรับแต่งแต่ง
ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ สมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ เลย
การทำให้กรณีของ “รถโบราณ” แปรเปลี่ยนในลักษณะขยายไปเป็น “รถหรู” จึงสะท้อนเจตนา
เป็นเจตนาในแบบ “แคนนอน”
เข้าทำนองหยิก “หลวงพี่แป๊ะ”ให้สะเทือนถึง สมเด็จพระมหา รัชชมังคลาจารย์ เป้าหมายจริงๆมิได้อยู่ที่ “รถ” หากอยู่ที่อย่างอื่น
ปฏิบัติการเรื่องรถโบราณที่แปรเป็น “รถหรู” จึงแฝงเจตนาร้ายในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน