แม้คะแนนและความนิยมต่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะสูงเด่น เช่นเดียวกับบทบาทของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ค่อยๆดีวันดีคืนไล่ ตามหลังมาติดๆ

แต่สังคมก็รับรู้ว่าที่นำโด่งเหนือใครในขณะนี้ย่อมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะอย่างน้อยบนฐานแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มี 250 ส.ว.ที่แต่งตั้งมาในอำนาจของหัวหน้าคสช.ตุนอยู่แล้ว

ไม่ว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จำต้องมีอย่างน้อย 300 ส.ส.อยู่ในมือ หรือ 376 ส.ส.อยู่ในมือจึงจะสามารถลืมตาอ้าปากได้

250 ส.ว.คือจุดได้เปรียบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งๆที่โดยกติกาอันกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เท่ากับใน ด้านของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำชัยอยู่แล้วตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

เพียงแต่หา ส.ส.ให้ได้ 126 เสียงก็เรียบร้อย

แล้วเหตุใดซีกทางด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทางด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จึงหาญมาต่อกรด้วย

คำตอบจึงฝากไว้กับ “อภินิหาร” สถานเดียว

คำว่าอภินิหารในที่นี้มิได้ถึงอำนาจในทางไสยศาสตร์ หากแต่เป็นอภินิหารจากการตัดสินใจของประชาชน

เพราะว่าทั้ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทั้ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ได้มาอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย ตรงกันข้ามมีพันธมิตรใน แนวร่วมอย่างคึกคัก

นั่นก็คือพันธมิตรที่ไม่เอาคสช. ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป้าหมายก็คือ จะรวบรวม 376 เสียงได้อย่างไร

จำนวน 376 เสียงจึงเป็น”อภินิหาร”จากการตัดสินใจของประชาชนอันทรงความหมายเป็นอย่างสูง

การต่อสู้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมจึงเป็นการต่อสู้ ผ่านแนวทาง 2 แนวที่ผนึกพลังอันแข็งแกร่งขึ้น

แนวทาง 1 เอาคสช. เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แนวทาง 1 ไม่เอาคสช. ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เอารัฐประหาร

ใครชนะ ใครแพ้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน