สนช. ขยัน : บทบรรณาธิการ

สนช. ขยัน : บทบรรณาธิการ – แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเลื่อนการพิจารณากฎหมายที่มีข้อสงสัยจำนวนมาก อันก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางเช่นกฎหมายควบคุมพันธุ์ข้าวออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์

นอกจากความกังวลเรื่องที่ไม่มีข้อรับประกันว่า เมื่อถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ อันครบกำหนดที่จะนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณารอบใหม่ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะคืบหน้าไปเพียงใดแล้ว

ยังมีประเด็นที่มีคนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสังเกตอีกว่า โดยความรับผิดชอบและโดยมารยาท สนช. น่าจะยุติหรือลดบทบาทการทำงานลงไป

ไม่ใช่ยิ่งเพิ่มปริมาณการผ่านกฎหมายให้ออกมามากกว่าปกติดังเช่นที่เป็นอยู่นี้

จากการรวบรวมของเว็บไซต์ ILAW ระบุว่า ปี 2557 สนช. ทำงานอยู่ 4 เดือน ผ่านกฎหมาย 49 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละ 12.1 ฉบับ ปี 2558 ผ่านกฎหมาย 91 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละ 7.5 ฉบับ

ปี 2559 ผ่านกฎหมาย 75 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละ 6.1 ฉบับ ปี 2560 ผ่านกฎหมาย 58 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละ 4.8 ฉบับ ปี 2561 ผ่านกฎหมาย 72 ฉบับ เฉลี่ยเดือนละ 6 ฉบับ

นับถึงสิ้นปี 2561 สนช. ผ่านกฎหมายไปอย่างน้อย 345 ฉบับ

และเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 สนช. ออกกฎหมายไปแล้ว 346 ฉบับ แต่เมื่อนับถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 สนช. ออกกฎหมายไปแล้ว 412 ฉบับ

เท่ากับว่า ภายในเวลาเดือนเดียว สนช. ผ่านกฎหมายอย่างรวดเร็วมากถึง 66 ฉบับ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 18 ฉบับ

หรือวันละ 2.5 ฉบับ

ในแง่หลักการแล้ว สภาหรือองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง พึงต้องระมัดระวังการใช้อำนาจที่จะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง

เพราะเมื่อไม่ได้มีที่มาจากประชาชน การใช้อำนาจก็ไม่ถูกตรวจสอบจากประชาชน อันอาจทำให้การใช้อำนาจนั้นบิดเบือนหรือเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริงของสังคม

นอกจากนั้น เมื่อใกล้วันเลือกตั้ง อันหมายถึงจะมีสภานิติบัญญัติใหม่จากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา ยิ่งไม่มีความจำเป็นอะไรที่ สนช. จะต้องเร่งการออกกฎหมายมากมายผิดสังเกตกว่าการทำงานปกติดังเช่นที่เห็นอยู่

ควรปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบขององค์กรที่เป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริงจะดีกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน