พึ่งปัจจัยในประเทศ

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

พึ่งปัจจัยในประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนถึงภาวะยากลำบากในปี 2562 มาจากเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาสสอง อยู่ที่ร้อยละ 2.3

เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวร้อยละ 4.7 จนขึ้นแท่นเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส นับจากไตรมาสสี่ ของปี 2557

คาดว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดของปีนี้ และส่งผลให้จีดีพีครึ่งแรกของปี 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6

ส่วนเป้าหมายตลอดทั้งปีที่ตั้งให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อยู่ที่ร้อยละ 3 ลดจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ร้อยละ 3.6

สาเหตุหลักของตัวเลขที่ดิ่งลง มาจากมูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลงอยู่ที่ 60,553 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงไปร้อยละ 4.2

เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอลงและผลกระทบจากมาตรการสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกาที่ตึงเครียดมากขึ้น

รวมทั้งฐานการส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการที่อยู่ในเกณฑ์สูงและข้อจำกัดด้านปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางรายการ

แต่การที่สภาพัฒน์ยังตั้งเป้าจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 3 เพราะเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ช่วงครึ่งปีหลัง

อีกทั้งเห็นว่าอุปสงค์ในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องช่วงครึ่งหลังของปี ทั้งการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน

สําหรับเส้นทางการรับมือกับสภาพเศรษฐกิจดังกล่าว สภาพัฒน์เห็นว่าต้องพึ่งพาปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมูลค่า 3 แสนล้านบาท

เนื่องจากภาวะการส่งออกเป็นปัจจัยภายนอก ทำอะไรไม่ได้มากนัก และการท่องเที่ยวขยายตัวล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ การยกเว้นวีซ่าให้ นักท่องเที่ยวชาวจีนและชาวอินเดีย ไม่มีแนวโน้มเป็นไปได้

เมื่อการหาช่องทางประคองหรือกระตุ้นเศรษฐกิจต้องพึ่งพาปัจจัยในประเทศ การกระจายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งทำ

เพราะถ้าเศรษฐกิจยังกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง การกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นไปได้ยากเหมือนที่เป็นในขณะนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน