น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

ดอกและต้นการะเกด หน้าตาเป็นไงคะ

ลาเต้

ตอบ ลาเต้

การะเกด ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus tectorius จัดอยู่ในวงศ์เตยทะเล (Panda naceae) ชื่อภาษาอังกฤษคือ Screw Pine เพราะรูปร่างใบวนเป็นเกลียว ชื่ออื่นๆ เรียก ลำเจียกหนู ปะหนัน ปะแนะ เตยเล Hala (ฮาวาย) Bacua (สเปน) และ Vacquois (ฝรั่งเศส)

มีเขตกระจายพันธุ์แถบหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ไทย มาเลเซีย ออสเตรเลียตะวันออก และตามชายหาดหรือพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทะเล ด้วยชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะริมน้ำ ดินทรายชายทะเล ริมลำธาร ลำห้วย

สำหรับเมืองไทย รู้จักคุ้นเคยการะเกดกันมาแต่โบราณ เห็นได้จากวรรณคดีไทยแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นลงมา เช่น ลิลิตพระลอ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ต่างมีบทชมสวนชมป่าบรรยายถึงต้นการะเกดกันทั้งสิ้น นอกจากนั้นยังนิยมนำมาตั้งชื่ออีกด้วย ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ.2416 ก็มีบรรยายไว้ว่า

“การะเกด : ดอกไม้สีเหลือง กลิ่นหอมดี ดูงาม ต้นเท่าด้ามพาย ใบเป็นหนาม ขึ้นอยู่ที่ดินเปียกริมน้ำ” แสดงว่าดอกการะเกดเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และยังมีเพลงขับ “เจ้าการะเกด เจ้าขี่ม้าเทศ จะไปท้ายวัง ชักกริชออกแกว่ง ว่าจะแทงฝรั่ง เมียห้ามไม่ฟัง เจ้าการะเกดเอย” ในหนังสือบทกลอนกล่อมเด็ก (ฉบับสอน) ของหอพระ สมุดวชิรญาณ รวบรวมโดย หลวงธรรมาภิมณฑ์ (ถึก จิตรกถึก) เมื่อ พ.ศ.2463 เป็นบทเพลงกล่อมเด็กยอดนิยม

การะเกดจัดเป็นพรรณไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก มีรูปทรงคล้ายต้นเตย สูงได้ประมาณ 3-7 เมตร มีหนามสั้นๆ ทู่ๆ ที่ผิวของลำต้น ที่โคนต้นมีรากค้ำจุน เป็นรากอากาศค่อนข้างยาวและใหญ่ งอกจากลำต้นส่วนบนหยั่งลงถึงพื้นดิน

ใบเดี่ยวเป็นรูปรางน้ำ แผ่นใบค่อยๆ เรียวแหลมไปหา ปลายใบ คล้ายสกรูว์ ขอบใบมีหนามแข็งยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวใบเรียบเป็นมัน

ดอกเป็นดอกช่อ กลิ่นหอมเย็น ออกที่ปลายยอดและมีจำนวนมาก แยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้เป็นช่อดอกยาว มีใบประดับที่ช่อดอกย่อย สีขาว ดอกตัวเมียเป็นช่อออกที่ปลาย เกาะกันคล้ายผล เกือบกลม ลักษณะของผลจะเบียดกันแน่นเป็นก้อนกลม มองเหมือนผลเดี่ยว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-20 เซนติเมตร แต่ละผลมีขนาดกว้าง 2-6.5 เซนติเมตร และยาว 4-7.5 เซนติเมตร เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม โคนสีเหลือง ตรงกลางเป็นสีแดง ส่วนตรงปลายยอดเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลที่สุกแล้วจะมีโพรงอากาศจำนวนมาก

ตำราสรรพคุณสมุนไพรของไทยระบุสรรพคุณทางยาของการะเกดเอาไว้ว่า ดอกรสสุขุม (ขมหอม) ใช้ปรุงเป็นยาหอม ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ ใช้เป็นยาแก้โรคในอก เจ็บอก เจ็บคอ แก้เสมหะ บำรุงหัวใจ และบำรุงธาตุ, รากเป็นยาแก้ไข้ ขับปัสสาวะ, รากอากาศเป็นยาแก้หนองในและนิ่ว ส่วนยอดใช้ต้มกับน้ำให้สตรีดื่มตอนหลังคลอดบุตรใหม่

ประโยชน์ของการะเกด ผลแก่จัด (ผิวผลเป็นสีแดง) รับประทานได้ รสชาติคล้ายสับปะรด ดอกหอมก็กินได้ แต่รสขม และความหอมของดอกยังใช้อบกลิ่นเสื้อผ้าหรือใช้ดอกเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวหรือมันหมู ทำเป็นน้ำมันใส่ผม ขณะที่ใบการะเกดนำมาเป็นเครื่องจักสานได้ดี เช่น กระสอบ เสื่อ หมวก กระเป๋า ฯลฯ เป็นวัตถุดิบของงานหัตถกรรมที่ดีและหาได้ง่าย

นอกจากดอกที่มีกลิ่นหอมแล้ว การะเกดยังเป็นไม้ประดับได้ดี เพราะมีรูปทรงเฉพาะตัวงามแปลกตา เหมาะสำหรับปลูกตามที่ชื้นแฉะหรือริมฝั่งน้ำ ปลูกง่าย ทนทาน อายุยืนยาว หาพันธุ์ได้ไม่ยาก

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการะเกดอีกชนิดหนึ่งได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ คือ การะเกดด่าง เป็นการะเกดที่มีใบสีเหลืองเป็นทางยาว แลดูงดงามกว่าการะเกดที่มีใบสีเขียว การะเกดด่างเป็นพันธุ์ไม้จากต่างประเทศที่มีผู้นำเข้ามาปลูกไม่นานนัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pandanus variegatus Miq. มีใบสวยงาม แต่ไม่มีดอกหอมเหมือนการะเกดไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน