“เสถียร จันทิมาธร”

“หม่าเป่าจี้” กล่าวถึงทางฝ่ายซุนกวนว่า เมื่อโลซกรู้จักกับซุนกวนใหม่ๆ ได้ชี้ชัดว่า

“ราชวงศ์ไม่อาจฟื้นคืนสภาพเดิม อำนาจของโจโฉก็ยังไม่สามารถล้มล้างได้” นั้น ซุนกวนคารวะ

“ยึดสถานการณ์ 3 เส้า”

“กำจัดหองจอ ปราบเล่าเปียว ยึดลุ่มแม่น้ำแยงซีให้ได้ จากนั้น ค่อยตั้งตัวเป็นกษัตริย์หวังยึดครองทั้งแผ่นดิน”

หลังจากเล่าเปียวตาย โลซกก้าวต่ออีกขั้น

แนะให้ซุนกวนยึดเกงจิ๋ว เป็นพันธมิตรกับเล่าปี่โดยกล่าวว่า “เกงจิ๋วอยู่ติดกับพรมแดนเราแม่น้ำไหลไปทางเหนือ ด้านนอกมีแม่น้ำแยงซีกับฮั่นสุ่ยเป็นปราการ ด้านในมีภูเขาสูงชัน แข็งแกร่งดังเมืองทอง กว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนมั่งคั่ง หากยึดไว้ได้ก็จะเป็นทุนในการตั้งตัวเป็นกษัตริย์

“บัดนี้เล่าเปียวตาย บุตรทั้ง 2 เข้ากันไม่ได้ตลอดมา ขุนนางนายทหารต่างมีฝ่ายของตนประกอบกับเล่าปี่เป็นยอดคนเก่งกาจแตกคอกับโจโฉมาอาศัยอยู่กับเล่าเปียว เล่าเปียวริษยาความสามารถจึงไม่ยอมใช้สอย

“หากเล่าปี่ร่วมแรงร่วมใจกับบุตรทั้ง 2 ของเล่าเปียว ทุกฝ่ายสามัคคีกันเราก็ควรไปเกลี้ยกล่อมเป็นพันธมิตร หากแตกสามัคคีกันเราค่อยหาวิธีอื่นจัดการ เพื่อให้การใหญ่ของเราสำเร็จ”

ความคิดของโลซกตรงกับขงเบ้งโดยมิได้นัดหมาย

ข้อมูลอันมาจาก “หม่าเป่าจี้” ให้รายละเอียดมากกว่าที่ปรากฏในยุทธนิยายเรื่องสามก๊กของหลอกว้านจง ไม่เพียงสะท้อนวิสัยทัศน์ของ 3 ฝ่าย

1 โจโฉ 1 เล่าปี่ 1 ซุนกวน

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ สะท้อนวิธีคิดโดยพื้นฐานของ “เสนาธิการ” คนสำคัญของซุนกวนและเล่าปี่

นั่นก็คือ โลซก กับ ขงเบ้ง

งานของ “ฮว๋อหยี่เจีย” อัน บุญศักดิ์ แสงระวี แปลและเรียบเรียงมาในชื่อ “ศิลปะการใช้กลยุทธ์ในสามก๊ก” ระบุว่า เกงจิ๋วเป็นถิ่นแห่งการศึก เป็นฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ “การสนทนาที่หลงจง” ของขงเบ้งก็ได้พูดถึงเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋ว

“นโยบายบนยี่ภู่” ของโลซกมีความเห็นให้ยึดอาณาบริเวณแม่น้ำเตียงกั๋งไว้ทั้งหมดจึงจะสามารถรักษาความปลอดภัยของง่อก๊กเอาไว้ได้ รอโอกาสเพื่อครองแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ง่อก๊กก็จะไม่ยึดเกงจิ๋วมาเป็นของตนมิได้

เมื่อจกก๊กจะยึด ง่อก๊กจะครอง แก้ไขทางการเมืองไม่ได้ การใช้การแก้ปัญหาด้วยอาวุธจึงเป็น สิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ เพื่อที่จะใช้มาตรการทางการเมืองแก้ปัญหา โลซกได้เดินทางถึง 3 ครั้งเพื่อไปทวงเกงจิ๋วคืน

ในการเจรจาระหว่างโลซกกับขงเบ้งสะท้อนให้เห็นท่วงทำนองและนโยบายรับมือทางการทูตที่แตกต่างกันของทั้ง 2 คนอย่างเต็มที่

ขงเบ้งและโลซกล้วนแต่เป็นผู้เสนอแนะความเป็นพันธมิตรระหว่างจกก๊กกับง่อก๊ก ทั้ง 2 คนล้วนแต่ยืนหยัดในเรื่องนี้ตลอดมากระทั่งตายก็ไม่เปลี่ยน

แต่ในปัญหาการจัดการกับเกงจิ๋วทั้ง 2 คนล้วนแต่มีความแยบยลของตนเอง

โลซกเริ่มต้นจากสถานการณ์ใหญ่ มีความเห็นให้ใช้มาตรการสันติแก้ปัญหาเกงจิ๋ว เพราะฉะนั้น จึงอ่อนข้อให้ครั้งแล้วครั้งเล่า กล้ำกลืนฝืนทนเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม แต่ขงเบ้งกลับเล่นเล่ห์เพทุบาย ดื้อแพ่งครั้งแล้วครั้งเล่า ฝ่าย 1 เป็นการทูตแบบซื่อๆ อีกฝ่าย 1 เป็นการทูตร้อยเหลี่ยม

โลซกยึดหลักให้อยู่ร่วมกันด้วยความจริงใจ ในระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่ความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ถึงกับเลวร้ายลงยังคงสามารถรักษาไว้ซึ่งพันธมิตรระหว่างง่อก๊กกับจกก๊กเอาไว้ ขงเบ้งร้อยเล่ห์แม้สามารถดื้อแพ่งชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่ก็แก้ปัญหาเกงจิ๋วไม่ได้

ผลสุดท้ายก็นำมาซึ่ง “กวนอูรบแพ้เพราะนโยบายผิดพลาด”

ทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างจกก๊กกับง่อก๊กแตกหักกันถึงที่สุด ละเมิดต่อเจตนาเดิมของขงเบ้งที่ให้ยืนหยัดในพันธมิตรระหว่างประเทศทั้ง 2

ปัญหาเกงจิ๋วแม้ซุนกวน จิวยี่ จะหงุดหงิดต่อการยืนหยัดของโลซกอย่างไร ปัญหา เกงจิ๋วแม้กระบวนการอันสลับซับซ้อนของขงเบ้งจะยากแก่การเข้าใจอย่างไร

แต่เมื่อสิ้นโลซก และเมื่อเกงจิ๋วอยู่ในมือกวนอู

กวนอูก็ละเมิดคำมั่นที่เคยให้ไว้กับขงเบ้งเมื่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋ว พลันที่มีการวางแผนร่วมลิบอง ลกซุน กวนอูก็ต้องหัวขาด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน