คอลัมน์ เพื่อนตัวเล็ก

หลายคนยังประทับใจกับขบวนช้างพลาย 11 เชือกจากเพนียดช้างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เข้ากรุงเพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อสัปดาห์ก่อน เลยชวนให้นึกถึงช้างเผือกคู่พระบารมีประจำรัชกาลที่ 9

ว่าแล้วก็ไปทำความรู้จักกันดีกว่า เริ่มจาก “พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ” เป็นช้างพลายเผือกโท เดิมชื่อพลายแก้ว เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฐทิศ ชื่อกมุท สีกายดังดอกกมุท หรือบัวสายแดง คล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2499 สมโภชขึ้นระวางที่โรงช้างต้น พระราชวังสวนดุสิต ในปี 2502 และได้ล้มลงแล้วเมื่อปี 2553

2

เชือกที่สอง ชื่อ “พระเศวตวรรัตนกรีฯ” เป็นช้างพลายเผือกสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์ สมโภชขึ้นระวางที่เชียงใหม่ เมื่อปี 2509 และล้มในปี 2510

“พระเศวตสุรคชาธารฯ” เป็นลูกช้างพลัดหลง อยู่ในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกช้าง 10 หมู่ ชื่อ ดามพหัตถี สมโภชขึ้นระวางที่ยะลา เมื่อปี 2511 ปัจจุบันพระเศวตสุรคชาธารได้ล้มแล้ว ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เมื่อปี 2520
3
อีกเชือกคือ “พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ” เดิมชื่อ เจ้าแต๋น เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ในปี 2519

เชือกที่ 5 คือ “พระเศวตศุทธวิลาศฯ” เป็นช้างพลายเผือกลูกเถื่อน ชื่อ บุญรอด พบที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์ สมโภชขึ้นระวางที่โรงช้างต้นสวนจิตรลดา พระราชวังสวนดุสิต เมื่อพ.ศ.2520

ช้างประจำรัชกาลยังมีอีก 5 เชือก จะชื่ออะไรบ้างติดตามอ่านสัปดาห์หน้านะจ๊ะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน