น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

กระชายมีประโยชน์อย่างไร ทำไมผู้ใหญ่ชอบ แต่เราไม่ชอบเลย

พิงค์

ตอบ พิงค์

กระชาย (กระชายขาว, กระชายเหลือง) เป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกเลี้ยงกันในประเทศจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในธรรมชาติ มักพบขึ้นในป่าดิบร้อนชื้น ชื่อสามัญ Fingerroot, Chinese ginger, Chinese keys, Galingale ชื่อวิทยาศาสตร์ Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (Zingiberaceae) มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพฯ), กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม), จี๊ปู ซีพู (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) เป๊าะสี่ เป๊าะซอเราะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ละแอน (เหนือ) และ ขิงจีน กระชายมี 3 ชนิด คือ กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง

จัดเป็นไม้ล้มลุก ไม่มีลำต้นบนดิน มีเหง้าอยู่ใต้ดินซึ่งแตกรากออกไปเป็นกระจุกจำนวนมาก แตกหน่อได้ อวบน้ำ เป็นรูปทรงกระบอกหรือรูปทรงไข่ค่อนข้างยาว ปลายเรียว ตรงกลางพองกว้าง ผิวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเนื้อในมีสีเหลือง หรือมีสีแตกต่างไปตามชนิด และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

เป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่คนไทยคุ้นเคยมานาน โดยเฉพาะเหง้ากระชายที่มีน้ำมันหอมระเหยและมีสารสำคัญหลายชนิดสะสม อยู่ การใช้งานเบื้องต้น ใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์เนื้อปลาได้ดี ที่สำคัญเป็นสารที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพรหลายชนิด ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://medthai.com ระบุสรรพคุณของกระชายว่า เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ เสริมสมรรถภาพทางเพศ แก้ลมวิงเวียน แน่นหน้าอก แก้โรคในปากและคอ เช่น ปากเปื่อย ปากแห้ง ปากเป็นแผล แก้อาการปวดท้อง มวนในท้อง อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ท้องเดิน แก้บิด ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะพิการ แก้ปวดข้อ บำรุงกระดูก ช่วยทำให้กระดูกไม่ เปราะบาง และใช้เป็นยาภายนอก รักษากลากเกลื้อน

และข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ส่วนเหง้าของกระชายรักษาอาการแน่น จุกเสียด โดยน้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ขับลม และสารฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า สารสกัดคลอโรฟอร์มและเมทานอลจากรากของกระชายมีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเชื้อ Giardia intestinalis พยาธิเซลล์เดียวในลำไส้ที่ก่อให้เกิดภาวะท้องเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ขณะที่งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า สาร Pinostrobin, Pinocembrin, Panduratin A และ Alpinetin ของกระชายมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิด และงานวิจัยในประเทศกานาพบว่าสาร Pinostrobin จากรากและใบมีฤทธิ์ช่วยต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมาลาเรีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.พ.มติชน รายงานว่ามีคำเตือนจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หลังจากเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้แชร์ข้อมูลประสบปัญหาการใช้สมุนไพร โดยระบุว่า ดื่มน้ำกระชาย 10 วัน ร่างกายทรุดไร้เรี่ยวแรง “ผมนำทั้งหมด (กระชาย น้ำผึ้ง น้ำมะนาว) มาปั่นเป็นน้ำสำหรับดื่ม

โดยดื่มเช้าและเย็น ดื่ม 2 จอกทุกวันเป็นเวลา 10 วัน ผมเริ่มป่วย แขนขาอ่อนแรง พูดเริ่มไม่ชัด เกือบจะเป็นปากเบี้ยว เดินก้าวเท้าไม่ได้ โดยซีกขวาผิดปกติคล้ายอัมพฤกษ์ ในที่สุดต้องไปพบแพทย์ ต้องนอนโรงพยาบาล 6 วัน ตรวจสแกนสมอง สแกนทุกอย่าง ผลเอกซเรย์พบว่า เลือดหนืดไปเลี้ยงก้านสมองไม่ทัน ประเด็นสำคัญคือ กระชายไม่ควรกินเยอะทุกวัน และในผู้สูงอายุยิ่งต้องระวังจะทำให้เลือดหนืด และเสี่ยงป่วย ขณะนี้อาการฟื้นตัวดีขึ้น 80-90% แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ดีเต็ม 100% ยังเดินไม่สมบูรณ์”

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สมุนไพรอย่างกระชาย หากรับประทานเป็นอาหารสามารถรับประทานได้ เพราะการประกอบอาหารไม่ได้ใช้จำนวนมาก แต่การรับประทานตามหลักก็ไม่ได้แนะนำให้บริโภคทุกวัน แม้แต่เป็นอาหารตามหลักโภชนาการก็ไม่แนะนำให้บริโภคอะไรประจำทุกวัน แต่ต้องบริโภคหลากหลาย หากรับประทานด้วยจุดประสงค์ทางยา หรือการบำรุงร่างกาย ต้องอยู่ภายใต้แพทย์และแพทย์แผนไทยแนะนำ ยิ่งผู้สูงอายุยิ่งต้องระวัง

ส่วนกระชายในที่นี้ก็ไม่ใช่กระชายดำ ที่มีฤทธิ์ทางเพิ่มกำลังวังชา บำรุงร่างกาย ซึ่งผ่านการวิจัยพัฒนามีข้อมูลวิชาการ แต่ก็ไม่แนะนำให้รับประทานทุกวัน ต้องกินแบบทิ้งช่วง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน