น้าชาติ ประชาชื่น

[email protected]

น้าชาติ อยากทราบความเป็นมาของเครื่องประหารกิโยตีนครับ

ณัฐ

ตอบ ณัฐ

ด้วยแนวคิดของ โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็ง-Joseph-Ignace Guillotin (ออกเสียงกันแพร่หลายว่า กิโยตีน) แพทย์ผู้เสนอต่อสภาปฏิวัติฝรั่งเศส ว่า “จุดมุ่งหมายของการประหารชีวิต คือการยุติชีวิต ไม่ใช่การสร้างความเจ็บปวดทรมาน” และเสนอให้นำเครื่องประหารชนิดหนึ่งที่มีผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นก่อนหน้านั้น มาใช้แทนการประหารตัดคอด้วย ขวาน และ ดาบ หรือ แขวนคอ และให้ใช้กับนักโทษทุกชั้นวรรณะ ไม่ใช่เลือกใช้กับเฉพาะคนชั้นสูง

ในเวลาต่อมาจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกเครื่องประหารดังกล่าว ว่า กียอแต็ง (กิโยตีน) ตามชื่อสกุลของ ดร.กียอแต็ง

กิโยตีนเป็นเครื่องประหารชีวิตของฝรั่งเศส ประดิษฐ์ขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเพื่อใช้ตัดคอนักโทษ มีลักษณะเป็นโครงไม้ 2 เสา ที่คานข้างบนแขวนใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมู น้ำหนักใบมีดประมาณ 40 กิโลกรัม ระยะความสูงลงไปถึงส่วนที่ให้ ผู้ถูกลงโทษวางศีรษะ ประมาณ 2-3 เมตร เมื่อเชือกถูกปล่อย หรือตัดลง ใบมีดที่หนักจะหล่นลงตัดศีรษะผู้ถูกประหาร

เครื่องมือนี้เดิมเรียกว่า “ลูยแซตต์ หรือ ลูยซ็อง-Louisette หรือ Louison” ตามชื่อของ อองตวน หลุยส์-Antoine Louis ราชบัณฑิตแห่งสภาศัลยแพทย์ ผู้ประดิษฐ์ โดยการทดลองพบว่า เครื่องใช้ได้ดีมีประสิทธิภาพ และน่าจะทำให้ผู้ถูกประหารชีวิตเจ็บปวดน้อยที่สุด กระทั่ง ดร.กียอแต็งเสนอแนวคิดต่อสภาปฏิวัติดังกล่าว

นีกอลา ฌัก แปลตีเย (Nicolas J. Pelletier) โจรปล้น คนสัญจร เป็นนักโทษคนแรกที่ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน เมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1792 และช่วงเวลาใกล้เคียงกันในคริสต์ศตวรรษที่ 16 สหราชอาณาจักรมีเครื่องลงโทษลักษณะที่คล้ายกันชื่อ กรงเหล็กตะแลงแกง และมีเครื่องลงโทษลักษณะคล้ายกันในประเทศอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์

ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส นักโทษที่เป็นบุคคลมีชื่อเสียงมักถูกตัดคอด้วยดาบหรือขวาน ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปจะถูกแขวนคอ หรือวิธีการประหลาดต่างๆ ในช่วงของยุคกลาง (เช่น ถูกเผา หรือมัดกับล้อไม้) ทั้งนี้ ในการตัดคอ มีหลายครั้งที่ตัดคอไม่สำเร็จในดาบแรก ทำให้เกิดความทรมานต่อผู้ถูกประหารชีวิต

การใช้กิโยตีนทำให้ผู้ถูกประหารชีวิตเจ็บปวดน้อยที่สุด ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนอย่างน้อย 20,000 คน

กิโยตีนเป็นเครื่องประหารชนิดเดียวที่ถูกกฎหมาย จนกระทั่งยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตในปี ค.ศ.1881 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทวีปยุโรปตกอยู่ภายใต้การยึดครองของนาซีเยอรมนี นาซีได้นำเครื่องกิโยตีนมาใช้ในการประหารชีวิตผู้ที่ต่อต้านในเยอรมนี

บุคคลสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีนคือ ออยเกิน ไวด์มันน์ (Eugene Weidmann) ฆาตกรสังหาร 5 ศพชาวเยอรมัน ถูกตัดศีรษะเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ.1939 เวลา 16.32 น. ภายนอกคุกแซ็ง-ปีแยร์ (Saint-Pierre) ที่เมืองแวร์ซายส์

กล่าวสำหรับ ดร.โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็ง ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ในการประชุมสภากงว็องซียงแห่งชาติเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1789 ได้เปิดอภิปรายเกี่ยวกับวิธีการประหารชีวิตนักโทษ กียอแต็งเสนอต่อสภาให้ประหารด้วยวิธีตัดศีรษะโดยใช้เครื่องมือที่มีกลไกง่ายๆ โดยที่ขณะนั้นการตัดหัวในฝรั่งเศสยังทำโดยใช้ขวานหรือดาบ ซึ่งบางครั้งเพชฌฆาตก็ฟันไม่ขาดในทีเดียว ทำให้นักโทษเจ็บปวดทรมาน อย่างไรก็ตาม แม้กียอแต็งจะเป็นคนเสนอวิธีการประหาร แต่เขามีจุดยืนคัดค้านโทษประหารและต้องการให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต

คนนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อเครื่องบั่นคอกิโยตีน แม้เขาจะร้องขอให้รัฐบาลเปลี่ยนชื่อเครื่องมือดังกล่าวแต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้เขาและครอบครัวต้องเปลี่ยนนามสกุลแทน เนื่องจากไม่ต้องการใช้ชื่อสกุลเป็นคำเดียวกับวิธีการประหารชีวิต

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน