คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

รายงานพิเศษ

ปัญหาการเจริญเติบโตที่พบบ่อยใน เด็กมีทั้งภาวะตัวเตี้ย มีการเจริญ เติบโตช้า โดยพบความชุกของภาวะโรคเตี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1-5 หรือในเด็ก 100 คน จะพบเด็กที่ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์อยู่ 1-5 คน

ผศ.พญ.ประไพ เดชคำรณ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทั้งนี้ภาวะเด็กเตี้ยที่เป็นปัญหาด้านการเติบโต หมายถึงเด็กที่เจริญเติบโตช้า กว่าอัตราปกติทั้ง น้ำหนักและส่วนสูง

สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ จะยึดตามเกณฑ์ความสูงที่ต้องไม่ต่ำกว่าเส้นล่างสุดของกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลก และสำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ขวบ ให้ใช้กราฟของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในการวัด คือ เด็กแรกเกิด-1 ขวบ มีอัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่า 25 ซ.ม./ปี, เด็กอายุ 1-2 ขวบ เติบโตน้อยกว่า 12 ซ.ม./ปี, เด็กอายุ 2-3 ขวบ เติบโตน้อยกว่า 8 ซ.ม./ปี, อายุ 3 ขวบ-ก่อนวัยหนุ่มสาว เติบโตน้อยกว่า 4-7 ซ.ม./ ปี และในช่วงเข้าวัยหนุ่มสาว เด็กหญิงเติบโตน้อยกว่า 7-9 ซ.ม./ปี และเด็กชายเติบโตน้อยกว่า 8-10 ซ.ม./ปี

หากผู้ปกครองพบว่าความสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว ควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ที่ทำให้เติบโตผิดปกติ เพื่อรักษา แก้ไข ให้เด็กตัวสูงขึ้น เพราะเด็กเตี้ยนอกจากจะมีปัญหาต่อสุขภาพจิต ยังมีปัญหาต่อการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและอวัยวะ

เมื่อพาเด็กที่สงสัยว่าเป็นโรคเตี้ยไปพบกุมารแพทย์ จะมีการประเมินและตรวจร่างกายเบื้องต้น หากพบความผิดปกติหรือสงสัย จะส่งต่อไปให้กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติเบื้องต้น และในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต อาจตรวจโดยการ กระตุ้นฮอร์โมนการเจริญเติบโต

หากตรวจพบความผิดปกติของระดับฮอร์โมนการเจริญเติบโต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านต่อมไร้ท่อ จะพิจารณาการรักษาโดยให้ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโตต่อไป และหากเป็นโรคขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต จะรักษาโดยการฉีดฮอร์โมนเท่านั้น จะไม่มีฮอร์โมนการเจริญเติบโตชนิดกินหรือชนิดพ่นหรือแบบอื่น ๆ ตามที่ได้มีการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์หรือทางสื่ออื่นๆ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสูง ว่าคนเราจะสูงได้แค่ไหน มาจากปัจจัยหลัก 6 ประการประกอบด้วย ดังนี้

1.ยีนหรือพันธุกรรม ยีนที่ควบคุมความสูงมีหลายยีน ลูกแต่ละคนได้รับถ่ายทอดยีนจากพ่อแม่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นพ่อแม่เดียวกัน มีลูกหลายคน ลูกก็อาจสูงไม่เท่ากัน

2.ฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตในวัยเด็ก คือฮอร์โมนไทรอยด์และฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone) ซึ่งทำให้มีการขยายตัวของกระดูกเป็นผลให้กระดูกยาวขึ้น

3.ฮอร์โมนเพศ ในช่วงเข้าวัยหนุ่มสาวเด็กจะมีการเจริญเติบโตเร็วขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเพศกระตุ้นการหลั่งเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนการเจริญเติบโต และทำให้มีการพัฒนาของกระดูกและเมื่อเข้าวัยหนุ่มสาวสักระยะหนึ่งแล้ว ฮอร์โมนเพศจะทำให้กระดูกปิด และหยุดการเจริญเติบโต

4.อาหารการกิน สารอาหารมีส่วนสำคัญมากในการเจริญเติบโตของร่างกายซึ่งรวมถึงกระดูก การกินอาหาร ครบหมู่ช่วยให้ได้รับพลังงาน โปรตีน ไขมัน และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต หากขาดพลังงาน โปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ ทำให้การเจริญเติบโตช้า สารอาหารหลักที่มีผลต่อการสร้างเสริมกระดูก เช่น แคล เซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินดี มีความสำคัญต่อความสูงเช่นกัน

5.การออกกำลังกายที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้น การหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต แต่การออกกำลังกายในเด็กที่มากและหนักเกินไปจะกดการเจริญเติบโตทำให้ตัวเล็กแกร็น

6.การนอนหลับ การนอนหลับสนิทมีความเกี่ยวข้องกับการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต จึงแนะนำให้เด็กนอนหลับสนิทให้เพียงพอเพื่อการเจริญเติบโตที่ดี

ดังนั้นหากพ่อแม่ ผู้ปกครอง สังเกตเห็นความผิดปกติหรือมีความสงสัยเกี่ยวกับฮอร์โมนการเจริญเติบโต สามารถปรึกษากุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อ ได้ที่โรงพยาบาลที่มีกุมารแพทย์ต่อมไร้ท่อทุกแห่งทั้งรัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน