‘ฉางเอ๋อ’ลงด้านมืดดวงจันทร์

‘นิวฮอไรซันส์’ส่งรูปสุดขอบจักรวาล

ข่าวสดหลากหลาย : ต้อนรับปีใหม่ 2562 วงการคึกคักขึ้นมาทันทีด้วยเหตุการณ์ใหญ่จากการสำรวจของมหาอำนาจโลก

นาซ่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เจ้าแห่งยุทธจักรอวกาศสร้างความฮือฮาด้วยภาพจากยาน นิว ฮอไรซันส์ (New Horizons) มาจากดินแดนอันไกลโพ้น ห่างจากโลกถึง 6,500 ล้านกิโลเมตร

เป็นนาทีโฉบผ่านอุกกาบาตดึกดำบรรพ์ ที่แถบ ไคเปอร์ หรือ ไคเปอร์ เบลต์ ขอบนอกสุดของระบบสุริยจักรวาล ไกลกว่าดาวเคราะห์แคระ พลูโต ที่ยานนิวฮอไรซันส์ไปเยือนเมื่อปี 2558 อีก 1,500 ล้านก.ม.

ส่งภาพแรกกลับมายังศูนย์ควบคุม เรียกเสียงร้องไชโยยินดีจากทีมงานศูนย์บังคับการและห้องปฏิบัติการภารกิจฟิสิกส์ประยุกต์ จอห์น ฮอปกินส์ รัฐแมรีแลนด์ เมื่อเวลา 00.23 น. วันที่ 1 ม.ค. 2562

เพราะถือเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งจารึกการสำรวจอุกกาบาตที่เก่าแก่และไกลที่สุด เท่าของมวลมนุษยชาติ

“ยานสำรวจปลอดภัยดี ภารกิจการบินผ่านวัตถุในอวกาศที่ไกลที่สุดของเราสำเร็จลุล่วงอย่างสวยงาม” อลิซ โบวแมน ผู้ควบคุมภารกิจ นิว ฮอไรซันส์ ประกาศ

พื้นผิวดวงจันทร์

 

อุกกาบาตรูปร่างเหมือนตุ๊กตาหิมะ หรือ สโนว์แมน มีชื่อว่า คือ อัลติมา ธูลี (Ultima Thule) ลอยอยู่บริเวณแถบไคเปอร์ ซึ่งเต็มไปด้วยวัตถุอวกาศปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งโคจรรอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยจักรวาล ประเมินได้ว่ามันมีขนาดกว้าง 15 ก.ม. และสูง 33 ก.ม.

การจับตัวกันของส่วนที่เรียกว่าอัลติมา ก้อนเล็กกว่า กับส่วนที่เรียกว่า ทูลี น่าจะเข้ามารวมกันในอัตราความเร็วต่ำมากๆ หรือ ราว 2-3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อุกกาบาตแบบนี้จึงเป็นตัวอย่างชั้นดีในการศึกษาการก่อกำเนิดของระบบสุริยจักรวาลเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน เพราะสภาพของวัตถุอวกาศดังกล่าวยังคงมีสภาพไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อช่วงเวลานั้น

อัลติมา ธูลี

ฮอล วีเวอร์ นักวิจัยของนาซ่า กล่าวว่า จุดที่อันตรายที่สุดในจังหวะถ่ายภาพ คือตอนโฉบเข้าใกล้ อัลติมา ธูลี ในระยะใกล้ที่สุดประมาณ 3,540 ก.ม. ด้วยอัตราเร็วถึง 57,936 ก.ม.ต่อช.ม.

“เรียกว่าเร็วกว่าเครื่องบินโบอิ้ง 747 เป็น 65 เท่า และองศาของกล้อง ทิศทางของยาน จะต้องสัมพันธ์กันกับเวลาที่นักวิจัยคำนวณและกำหนดไว้อย่างแม่นยำ” วีเวอร์กล่าว

การได้ภาพที่มีความละเอียดสูง ขนาดข้อมูลหลายกิกะไบต์นี้ นาซ่าประเมินว่าข้อมูลทั้งหมดจะส่งมาถึงโลกครบภายในเดือนกันยายน 2563 ส่วนภาพความละเอียดสูงของ อัลติมา ธูลี คาดว่าจะมาถึงโลกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด

ทั้งหมดนี้เพื่อนำมาช่วยไขปริศนาวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ อันจะช่วยนำไปเติมเต็มทฤษฎีการก่อกำเนิดดวงดาวและโลกในที่สุด

ไม่เฉพาะนาซ่าของสหรัฐเท่านั้นที่ตื่นเต้นกับข้อมูลอวกาศนี้ ทางด้านจีน ที่กำลังก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศอีกประเทศก็ยินดีกันยกใหญ่

นาซ่าแถลงความสำเร็จ

เมื่อยานสำรวจฉางเอ๋อ-4 ขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน หรือ CNSA ประสบความสำเร็จในการร่อนลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์แล้ว

ความพิเศษ คือการลงจอดยัง “ด้านมืด” หรือด้านที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับโลก ครั้งแรก เมื่อเวลา 10.26 น. วันที่ 3 ม.ค. ตามเวลากรุงปักกิ่ง

จีนยกย่องให้เป็นอีกก้าวสำคัญของวงการสำรวจอวกาศของโลก

ยานฉางเอ๋อ-4 มีกำหนดจะนำตัวอย่างกลับมาศึกษายังโลกในปีนี้ โดยเป้าหมายการสำรวจเป็นหลุมอุกกาบาต วอน คาร์มอน ที่เกิดการชนของอุกกาบาต มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2,500 กิโลเมตร และลึกถึง 13 ก.ม.

ถือเป็นหลุมอุกกาบาตที่เก่าแก่ที่สุดของดวงจันทร์ และหนึ่งในการชนครั้งรุนแรงที่สุดในระบบสุริยจักรวาล

ฉางเอ๋อ-4 ตั้งชื่อตามเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ติดตั้งอุปกรณ์สำรวจหลายชนิดและมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบลักษณะทางธรณี วิทยาของด้านมืดดวงจันทร์ ซึ่งเป็นหุบเขาสลับซับซ้อนแตกต่างจากด้านสว่างที่หันหน้าเข้าหาโลก มีลักษณะเป็นพื้นราบและหลุมบ่อ ซึ่งด้านมืดดังกล่าวนั้นยังไม่เคยมีชาติใดสำรวจมาก่อน

เดิมทีนั้น ฉางเอ๋อ-4 เป็นยานสำรวจแบบโรเวอร์ที่ทางการจีนสร้างขึ้นเป็นยานสำรองในภารกิจฉางเอ๋อ-3 เมื่อปี 2556 แต่ต่อมาได้รับการปรับปรุงใหม่เพื่อภารกิจอันท้าทายในการลงจอดบนอีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์

บนยานสำรวจได้รับการติดตั้งกล้อง ถ่ายภาพ 2 ตัว ที่สร้างจากเอกชนในประเทศเยอรมนี เรียกว่า แอลเอ็นดี สำหรับการตรวจวัดค่ากัมมันตรังสี ส่วนอุปกรณ์อีกตัวเป็นกล้องสเป๊กโตรมิเตอร์ใช้สำหรับตรวจหาคลื่นวิทยุความถี่ต่ำ

ศ.แอนดรูว์ คอร์เทส ผู้เชี่ยวชาญจาก ห้องปฏิบัติการอวกาศมุลลาร์ดแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน หรือยูซีแอล ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ภารกิจการลงจอดที่ด้านมืดของดวงจันทร์ของทางการจีนถือว่าท้าทายมาก และเป็นการลงจอดครั้งแรกหลังภารกิจ อะพอลโล 11 ของนาซ่า เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ที่ด้านสว่างของดวงจันทร์

ศ.คอร์เทสระบุว่า สาเหตุที่ดวงจันทร์นั้นมีด้านสว่างและมืดเนื่องมาจากดวงจันทร์หันหน้าเข้าหาโลกด้านเดียวตลอดเวลาขณะโคจรรอบโลก นักดาราศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ไทดัล ล็อกกิ้ง เนื่องมาจากการที่ดวงจันทร์ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเกือบจะเท่ากันกับเวลาที่โคจรรอบโลก โดยการที่เรียกว่าด้านมืดไม่ได้หมายความว่ามืดตลอดเวลา แต่หมายถึงไม่สามารถมองเห็นจากโลกได้มากกว่า

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ด้านมืดของ ดวงจันทร์เป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในการทดสอบหาคลื่นวิทยุความถี่ต่ำในอวกาศ เนื่องจากไม่มีคลื่นรบกวนใดๆ จากโลก เพราะดวงจันทร์ทำหน้าที่เป็นโล่บังให้โดยธรรมชาติ

นอกจากภารกิจเก็บข้อมูลแล้ว ฉางเอ๋อ-4 ยังมีเมล็ดพันธุ์ของมันฝรั่ง และผักกาดอะราบิดอฟซิส น้ำหนัก 3 กิโลกรัม รวมทั้งไข่ของตัวไหม เพื่อนำไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ ในการสร้างวงจรสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์

การทดลองนี้ได้รับการออกแบบร่วมกันโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำ 28 แห่งในจีน

ยังไม่หมดเท่านั้น ฉางเอ๋อ-4 ยังมีกล้อง พาโนรามา และเรดาร์สำหรับตรวจชั้นดินลึกลงไปในดวงจันทร์ รวมทั้งค้นหาแหล่งแร่ธรรมชาติ ตลอดจนตรวจจับปฏิกิริยาของพื้นผิวของดวงจันทร์ต่อลมสุริยะ

ส่วนภารกิจต่อไปนั้นจะเป็นฉางเอ๋อ-5 และ 6 ซึ่งเป็นการนำตัวอย่างจากดวงจันทร์กลับมายังโลก

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน