ข่าวสดหลากหลาย : ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบสานเศรษฐกิจพอเพียง

ข่าวสดหลากหลาย : ปัญหาใหญ่ของเกษตรกร มักหนีไม่พ้นเรื่องการใช้ยา ฆ่าแมลง หรือสารเคมี รวมทั้งเรื่องหนี้สินที่ทำให้เกษตรกรหลายคนถึงกับหมดหวังในชีวิต

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงนำ ผู้สื่อข่าวไปศึกษาดูงานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้านต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย

พบกับ ป้าพรรณ หรือ นางพรรณพิมล ปันคำ ประธานศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านกำจัดปัญหาทั้งปวง

นางพรรณพิมล เติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกรใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อมาพบรักและแต่งงานกับ นายผ่าน ปันคำ ที่เติบโต มาในครอบครัวเกษตรกรเหมือนกัน การเป็น“เกษตรกรมืออาชีพ” จึงไม่ใช่เรื่องยากเกินฝัน

พรรณพิมล ปันคำ

ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ ทั้งสองผ่านอุปสรรคมามากมาย ทำนาจนมีหนี้สินหลายล้าน บวกกับเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่เดียวกันก็มีหนี้สินคล้ายๆ กัน จนหลายคนท้อแท้อยากจะหันหลังให้แก่การทำนา

ป้าพรรณจึงหารือกับเพื่อนเกษตรกรด้วยกันว่า “เราจะมาช่วยกันปลดหนี้” จึงได้มีการรวมกลุ่มเป็น “ชมรมเกษตรกรปลดหนี้” ต.ศรีเมืองชุม

ศูนย์ภูมิปัญญา

ในปี 2547 ปรับวิถีชีวิตสู่ “เศรษฐกิจพอเพียง” เนรมิตเนื้อที่ 14 ไร่ มาเป็นแปลงทดลอง ลองผิดลองถูก จนสามารถคิดค้น-วิจัยออกมาเป็น “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ทวนกระแสทุนนิยมเป็นใหญ่

จากนั้นจึงเปิด “โรงเรียนชาวนา” หรือ “ศูนย์ภูมิปัญญาชาวบ้าน”

ป้าพรรณบอกว่า “ช่วงแรกเกิดการ ต่อต้าน แต่เราบอกว่าวันนี้ถึงเวลาแล้วที่จะฟื้นฟูภูมิปัญญาของเรา จากสิ่งที่ทิ้งมันไปนาน องค์ความรู้ที่ทำวันนี้ชัดเจน เกิดการลองผิดลองถูกมาแล้วเป็น 10 ครั้ง จนสามารถนำมาใช้ได้”

และเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า มีเกษตรกรในกลุ่มกว่า 80% หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ และอีก 20% เข้าสู่ระบบ ทำให้เกษตรกรผ่อนคลายจากปัญหาหนี้สิน และหันมาตั้งหน้าตั้งตาทำนา ทำไร่ โดยไม่พึ่งสารเคมี

กระทั่งปี 2550 กลุ่มของพวกเราได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านเกษตรยั่งยืน ของจ.เชียงราย

นอกจากนี้ ยังเกิดการคิดค้นต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สินค้าอุปโภคและบริโภค เช่น สบู่ ชมพู และยาสีฟัน 2.สมุนไพร และ 3.ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ฮอร์โมนที่ใช้บำรุงพืช

เกษตรกรที่เข้ามาเรียนโรงเรียนชาวนาพอใจเพราะสามารถนำสูตรกลับไปใช้ได้จริง ทำให้ต้นทุนต่ำ ลดลงเกินครึ่ง

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบให้เปิดอบรมเกษตรกรเฉพาะจ.เชียงราย 200 คนต่อปี เป็นหลักสูตร 3 คืน 4 วัน เริ่มเรียนตั้งแต่ 04.00-21.00 น. แต่ศูนย์ภูมิปัญญาฯ ได้เปิดอบรมเพิ่มเติมหลักสูตร 6 เดือน “เรียนฟรี” ปีละ 2 รุ่น รุ่นละ 90-100 คน เรียนทุกวันศุกร์

เมื่อจบหลักสูตร 6 เดือนแล้ว สามารถเรียนต่อในหลักสูตรนักวิจัยอาสา หลักสูตร 2 ปี และสามารถเข้ารับการอบรมการเป็นวิทยากรกระบวนการและเชิญมาเป็นวิทยากรประจำศูนย์ต่อไป

โดยถือเป็นต้นแบบในการทำเกษตรกรรมแบบพึ่งพาตนเองอย่าง ครบวงจร

วรนุช มูลมาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน