คอลัมน์ -ข่าวสดหรรษา

อดิศร จิตตะเสวี

หลายคนรู้จัก “บึงกาฬ” ในฐานะจังหวัดน้องใหม่ จังหวัดที่ 77 และหนึ่งใน ผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ทำรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล

หรือแม้แต่ด้านแหล่งท่องเที่ยว ที่นี่ก็มี “ของดี” รอให้ทุกคนไปสัมผัส

นายพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ผวจ.บึงกาฬ กล่าวในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2560 ว่าบึงกาฬมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และธรรมชาติสวยงาม ทางจังหวัดกำลังเร่งพัฒนา รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้าสู่แหล่ง ท่องเที่ยวต้องสะดวกสบาย

จ.บึงกาฬ มี “บึงโขงหลง” พื้นที่ชุ่มน้ำระดับโลก ขนาดใหญ่ถึง 11,800 ไร่ แต่ ด้านชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ยังน้อยกว่า “บึงบอระเพ็ด” จ.นครสวรรค์ และ “หนองหาน” จ.สกลนคร

บึงโขงหลงเป็นแหล่งอาศัยของนกประจำถิ่น และนกอพยพถึง 134 ชนิด อาทิ นกกระเต็นหัวดำ นกกระติ๊ดแดง นกอีลุ้ม นกยางไฟหัวดำ และนกเป็ดผีเล็ก ยังไม่รวมถึงพืชน้ำหลากหลายชนิด

โดยเฉพาะบัวแดงที่บึงโขงหลงครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า 1,000 ไร่ และพิเศษไม่เหมือนใคร เพราะในบึงใกล้ๆ มีบัวหลวงอีกราว 800 ไร่ เวลาบานจะสวยสะพรั่งทั่วทั้งบึง

ผวจ.บึงกาฬ ระบุว่าบึงโขงหลงมีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ในน้ำอุดมไปด้วยสัตว์น้ำ นานาชนิด รอบๆ บึงมีแหล่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่น่าสนใจ อีกหน่อยจะพัฒนาให้มีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงระบบนิเวศ บึงโขงหลง นักท่องเที่ยวมาถึงแล้วไม่ใช่แค่แวะมาชมบรรยากาศ และกินอาหารริมบึง เป็นอันจบ แต่มาแล้วต้องได้เรียนรู้ และเห็นถึงความสำคัญของบึงโขงหลงด้วย

แหล่งชุ่มน้ำอีกแห่งที่สำคัญ คือ “หนองกุดทิง” เพียง 5 กิโลเมตรจาก อ.เมืองบึงกาฬ จะได้ตื่นตะลึงทึ่งไปกับหนองน้ำขนาดใหญ่ถึง 16,500 ไร่ อุดมไปด้วยพันธุ์พืชน้ำอย่างน้อย 59 ชนิด และปลาน้ำจืดอีกกว่า 103 สายพันธุ์

เปลี่ยนบรรยากาศไปดื่มด่ำกับธรรมชาติในผืนป่ากันบ้าง มาเยือนบึงกาฬทั้งทีต้องไม่พลาดแวะเวียนไป “ป่าสงวนแห่งชาติภูสิงห์” เนื้อที่ประมาณ 12,000 ไร่ เชื่อมต่อป่าดงดิบกะลา และป่าแดงสีชมพู กับภูมิประเทศเขาหินทราย ป่าไม้ชุ่มชื้น

โดยเฉพาะหินรูปทรงประหลาดชวนจินตนาการ ทั้ง หินสามวาฬ หินหัวช้าง หินช้าง หินรถไฟ และอีกสารพัดการแปรสภาพทางธรณีวิทยา ที่มีให้เห็นอีกเพียบ อาทิ ล้างร้อยบ่อที่เป็นหลุมขนาดเล็ก-ใหญ่จำนวนมาก หรือกำแพงหินภูสิงห์ กำแพงหินสูงที่เกิดจากการกัดเซาะของลม ฝน และลานหินลาย หลุมเล็กๆ มากมายที่เกิดจากธรรมชาติในฤดูฝน หญ้าจะขึ้นปกคลุมเป็นสีเขียวสวยงาม

นอกจากนี้ยังมีจุดชมวิวที่ใครได้เห็นต้องอ้าปากค้าง ไม่ว่าจะเป็นลานธรรม ภูสิงห์ หินทรายแดงขนาดใหญ่ดูละม้ายคล้าย สิงโตหมอบ เป็นที่มาของชื่อภูสิงห์นั่นเอง

ส่วนจุดชมวิวผาน้ำทิพย์ หน้าผาสูงทางทิศตะวันออก มองเห็นทิวทัศน์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เช่นเดียวกับจุดชมวิวถ้ำฤๅษีที่มอบทัศนียภาพของป่าภูวัว ภูทอกใหญ่ แม่น้ำโขง รวมถึงภูเขาปากกระดิ่งของประเทศลาว

ลัดเลาะต่อไปยัง “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูวัว” ครอบคลุมพื้นที่ อ.เมือง อ.บุ่งคล้า อ.เซกา และ อ.บึงโขงหลง มีสภาพภูมิประเทศหลากหลาย ทั้งป่าเต็งรัง ดิบแล้ง และดิบชื้น บางส่วนเป็นสันเขาเนินทราย ลานหิน และทุ่งหญ้า มีน้ำตกให้เที่ยวชมหลายแห่ง

เริ่มจาก “น้ำตกเจ็ดสี”มี 3 ชั้น เป็นน้ำตก จากหน้าผาสูง จึงเกิดละอองน้ำฟุ้งกระจาย พอ กระทบกับแสงแดดเกิดเป็นรุ้งตามชื่อ “น้ำตก ถ้ำฝุ่น” เรียกตามชื่อถ้ำที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ

น้ำตก “น้ำตกชะแนน” เดิมเรียกว่าน้ำตกตาดสะแนน เป็นน้ำตก 2 ชั้นขนาดใหญ่สวยงามเหนือคำบรรยาย

และ “น้ำตกถ้ำพระ” สูง 3 ชั้น ตั้งอยู่บริเวณถ้ำ เป็นชะง่อนผา มีพระพุทธรูปสร้างโดย พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่าชื่อดัง เป็นอีกน้ำตกสวยงาม ยิ่งช่วงหน้าฝนจะอลังการไปด้วยดอกไม้นานาพันธุ์บานสะพรั่ง

ปิดท้ายด้วยทริปไหว้พระ เดินสายจาก “วัดอาฮงศิลาวาส” ริมน้ำโขง ต.ไคสี หลวงพ่อลุน เป็นผู้ก่อตั้ง แต่หลังจากท่านมรณภาพไปในปี 2506 เจ้าคุณหลวงพ่อสมาน ริปัญโญ บูรณะขึ้นใหม่ มีพระอุโบสถหินอ่อน ประดิษฐานพระพุทธคุวานันท์ศาสดา

คล้ายพระพุทธชินราช หล่อด้วยทองเหลือง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ บริเวณแก่งอาฮง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่ลึกสุดของน้ำโขง หรือเรียกว่าสะดือแม่น้ำโขง ตามตำนานเล่าสืบกันว่าพื้นที่นี้มีถ้ำใต้โขดหินใหญ่ฝั่งลาว เป็นที่ชุมนุมของเหล่าพญานาคในวันออกพรรษา ในแถบนี้จึงเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคเป็นจำนวนมาก

ต่อไปยัง “วัดสว่างอารมณ์” หรือวัดถ้ำศรีธน วัดสำคัญของบึงกาฬ พระอุโบสถตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ บริเวณหลืบด้านล่างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ ปางปรินิพพาน

และ “วัดเจติยาศรีวิหาร” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “วัดภูทอก” ก่อตั้งโดย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ กับสะพานไม้และบันได 7 ชั้นแห่งความศรัทธา สร้างเวียนเขาภูทอกขึ้นไปจนถึงยอดบนสุด ทำให้การเดินทางในแต่ละชั้นเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจไปกับมุมมองที่แตกต่างทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะกว่าจะถึงยอดภูทอก หรือถึงซึ่งการหลุดพ้นนั้น มนุษย์ทุกคนต้องใช้ความเพียรพยายามและมุ่งมั่น

ภาพส่วนหนึ่งมาจากการประกวดภาพถ่าย ในงานยางพารา บึงกาฬ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน