คอลัมน์การศึกษา

ณัฏฐา สงวนวงศ์

50 ปีก่อน ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายเผ่าที่เร่รอนไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และไม่ได้รับการศึกษา “มลาบรี” เป็นชนเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตชายแดนระหว่างป่ากับเมืองอยู่ทั่วประเทศไทย ราว 400 คน จะย้ายถิ่นฐานตามเครือญาติหรือความสมดุลของป่า ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการล่าสัตว์ หรือเก็บของป่ามาขาย ด้วยวิถีชีวิตและการไม่รู้ของมลาบรีทำให้ถูกเอาเปรียบอยู่เสมอ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษา จึงพระราชทานทุนการศึกษาและพื้นที่ในศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ให้แก่กลุ่มมละบริได้ใช้เป็นสถานที่บ่มเพาะการใช้ชีวิตและนำความรู้ไปพัฒนาตนเองและช่วยเหลือสังคม

พร้อมเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่ม มละบริ หยุดการเร่ร่อนและหันมาอยู่กับที่ ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรประณีต และเน้นการศึกษาให้จบมาแล้วใช้งานได้จริง

น.ส.อรัญวา ชาวพนาไพร อายุ 30 ปี หรือ “ครูติ๊ก” ของเด็กๆ ประธานหมู่บ้านศูนย์มลาบรีภูฟ้า ชาวมลาบรีคนแรกของโลกที่ศึกษาระดับปริญญาตรีได้สำเร็จจากทุนพระราชทานของสมเด็จ พระเทพฯ เล่าว่า เราเรียกตนเองว่า “มลาบรี” แปลว่า “คนป่า” แต่คนส่วนมากเข้าใจผิด คิดว่าเราเป็น “ผีตองเหลือง” จำนวนประชากรกลุ่มมละบริมีน้อยและยังไม่รู้จักตัวตนของตนเองกันมากนัก ถึงใครต่อใครบอกว่า ตองเหลืองแปลว่าคนอยู่ในป่าอาศัยกับใบตอง ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ ตรงนี้จึงเป็นเหมือนแรงผลักดันให้ตนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่อยากให้ใครมาดูถูกเผ่า

เดิมตนเป็นคน จ.แพร่ พอจบ ม.3 ก็เข้ามาทำงานในตัวเมือง จ.น่าน และเรียนช่างฝีมือแรงงานไปด้วย 6 เดือน จนได้ทุนพระราชทานอาหารกลางวันจากสมเด็จพระเทพฯ หลังจากเรียนจบก็รู้จักกับอาจารย์ท่านหนึ่งชวนมาเรียนและทำงานที่ศูนย์ภูฟ้า มาสร้างหมู่บ้านบนดอย

ต่อมาได้ศึกษาต่อจนจบม.6 ก็ได้ทุนพระราชทานของสมเด็จพระเทพฯ เรียนต่อปริญญาตรีเป็นรุ่นแรกของเผ่ามลาบรี ตนเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ ก่อนจบปีที่ 4 ได้ไปอบรมเรื่องโครงการนักส่งเสริม ที่กรุงเทพฯ ทำให้ได้รู้จักเพื่อนและการเข้าสังคมมากขึ้น

เมื่อจบมาก็นำสิ่งที่เรียนมาพัฒนาชุมชน สร้างศูนย์วัฒนธรรม ทำหน้าที่เป็นผู้นำชุมชน เป็นคนกลางสื่อสารระหว่างคนภายนอกกับคนในชุมชน พร้อมทั้งมจธ.ได้เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกและดูแลพืชผักต่างๆ ทำให้มีแนวคิดที่จะวางแผนชีวิตมากขึ้นด้วย

ตอนนี้กลุ่มมละบริพัฒนาได้เรียนหนังสือและมีอาชีพอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกได้ดีแล้ว

สุดท้าย น.ส.อรัญวา ฝากถึงเด็กเผ่ามละบริรุ่นต่อไปว่า อยากให้น้องๆ ได้เรียนหนังสือในหลากหลายด้าน เช่น ทหาร กฎหมาย หรือครู จะได้กลับมาพัฒนาชุมชนได้เต็มที่

รู้สึกภูมิใจมากที่ได้นำความรู้ที่เรียนกลับมาพัฒนาชุมชนของตน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน