พระที่นั่ง อัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ : รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ – อยากทราบประวัติพระที่นั่งที่ทรง รับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โตมร

ตอบ โตมร

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์ประทับที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์และราชบัณฑิต ทรงรับพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ พระที่นั่งภัทรบิฐ

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

 

ซึ่งประดิษฐานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตรงข้ามกับพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ พราหมณ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสุพรรณบัฏพระปรมาภิไธย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และพระแสง

ความข้างต้นกล่าวถึงพระที่นั่ง 2 องค์ คือ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ที่ประทับรับน้ำอภิเษก และ พระที่นั่งภัทรบิฐ ที่ประทับหลังทรงรับน้ำอภิเษก

จากหนังสือเสวยราชสมบัติกษัตราผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรม กุลนันท์ เขียนไว้ในภาค สถาปัตยกรรมเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ ให้รายละเอียดของพระที่นั่งทั้ง 2 องค์ ดังนี้

ด้านตะวันออกของพระที่นั่งไพศาลทักษิณ (หนึ่งในพระที่นั่งในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง) เป็นที่ประดิษฐานพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ กางกั้นด้วยพระบวรเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 7 ชั้น ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

เป็นที่สำหรับพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าประทับนั่งเพื่อทรงรับน้ำบรมราชาภิเษกจากมหาราชครูและมุขอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้ง 8 ทิศ โดยจะมีภาพเขียนรูปเทวดารักษาทิศทั้ง 8 ทิศ ตามคติความเชื่อทางโหราศาสตร์ หรือที่เรียกว่า อภิไทโพธิบาทว์ แขวนไว้โดยรอบพระที่นั่งในแต่ละทิศ

ภาพเขียรูปเทวดาที่รักษาแต่ละทิศ ได้แก่ 1.พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ รักษาทิศตะวันออก 2.พระเพลิงทรงระมาดเพลิง รักษาทิศตะวันออกเฉียงใต้ 3.พระยมทรงนกแสก รักษาทิศใต้ 4.พระนารายณ์ทรงครุฑ รักษาทิศตะวันตกเฉียงใต้ 5.พระพิรุณทรงนาค รักษาทิศตะวันตก 6.พระพายทรงม้า รักษาทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 7.พระโสมะทรงม้า รักษาทิศเหนือ 8.พระไพรสพทรงหงส์ รักษาทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์มีลักษณะเป็นตั่งไม้ที่ประทับรูปทรงแปดเหลี่ยม ทำด้วยไม้มะเดื่อ ซึ่งเป็นไปตามนามของพระที่นั่ง กล่าวคือ อัฐทิศ แปลว่าทิศทั้ง 8, อุทุมพร แปลว่าไม้มะเดื่อ, ราชอาสน์ แปลว่าที่ประทับของพระราชา การสร้างพระที่นั่งด้วยไม้มะเดื่อนั้นน่าจะเป็นไปตามคติความเชื่อทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ

โดยศาสนาพราหมณ์เชื่อว่าไม้มะเดื่อเป็นที่ประทับของเทพเจ้าตรีมูรติ การนำไม้มะเดื่อมาสร้างเป็นที่นั่งของพระมหากษัตริย์จึงอาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่าทรงเป็นสมมติเทพ ส่วนศาสนาพุทธก็เชื่อว่าไม้มะเดื่อเป็นไม้มงคล เพราะเป็นต้นไม้ที่อดีตพระพุทธเจ้าคือพระโกนาคมน์พุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าไม้มะเดื่อเป็นไม้มงคลที่มีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ นำมาซึ่งการสร้างพระที่นั่งที่ประทับสำหรับพระมหากษัตริย์ที่เปรียบได้กับองค์เทพเจ้าและพระพุทธเจ้า

เบื้องขวาของพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์เป็นที่ตั้งแต่งพระแท่นมณฑลที่อัญเชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ตลอดจนเครื่องบรมราชาภิเษกหมวดต่างๆ คือ หมวดพระเจ้า หมวดพระราชพิธี หมวดเครื่องพระมุรธาภิเษก หมวดเครื่องต้น หมวดเครื่องพิชัยสงคราม หมวดพระแสง หมวดเครื่องสูง และหมวดเครื่องราชูปโภค ซึ่งอัญเชิญมาเพื่อใช้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนและครื่องประกอบพระราชพิธีต่างๆ ตลอดจนสิ่งสำคัญที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่ง และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าต่างๆ ก่อให้เกิดความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ สอดคล้องกับคติความเชื่อและความหมายว่า พระมหากษัตริย์เปรียบประดุจองค์สมมติเทพทั้งมวล

ฉบับพรุ่งนี้ (23 เม..) อ่านเรื่องพระที่นั่งภัทรบิฐ

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน