หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต

ยุติความรุนแรงต่อเด็ก

หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต – กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดย นาง สุภัชชา สุทธิพล รองปลัดกระทรวง พม. ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. พร้อมด้วย นายแกรี่ ริสเซอร์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมเปิดโครงการ “หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต” เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมยุติความรุนแรงต่อเด็กในประเทศไทย ที่ห้องโถง ชั้น 1 กระทรวง พม.

หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต ยุติความรุนแรงต่อเด็ก : สตรี

นางสุภัชชากล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวง พม. จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้คำแนะนำปรึกษารับเรื่องราวร้องทุกข์แก่ผู้ประสบปัญหาสังคมอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ มี เจ้าหน้าที่และนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพปฏิบัติงานให้คำแนะนำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยเหลือประสานส่งต่อ รวมทั้งช่วยเหลือเชิงรุกโดยหน่วยเคลื่อนที่เร็ว

จากการรับแจ้งของศูนย์ช่วยเหลือสังคม ในปีงบประมาณ 2559-2561 พบว่าสถิติการถูกกระทำความรุนแรงในกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,440 ราย เป็นการถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2,434 ราย นอกครอบครัว 2,006 ราย สอดคล้องกับสถิติในปีงบประมาณ 2562 ที่มีการแจ้งเหตุการกระทำความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 1,351 ราย ส่วนความรุนแรงนอกครอบครัวมี 595 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต ยุติความรุนแรงต่อเด็ก : สตรี

ทั้งนี้ กระทรวง พม.เพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และถือเป็นโอกาสดีที่องค์การยูนิเซฟเข้ามาร่วมมือกับกระทรวง พม. จัดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักและร่วมกันเข้ามามีส่วนร่วมหยุดยั้งการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน

ด้าน นายแกรี่ ริสเซอร์ กล่าวว่า องค์การยูนิเซฟร่วมกับกระทรวง พม. เปิดตัวแคมเปญ #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการหยุดยั้งความรุนแรงต่อเด็ก โดยขอให้ประชาชนตื่นตัวและรีบแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ซึ่งเป็นสายด่วนของรัฐ เมื่อพบเห็นเด็กถูกกระทำรุนแรงทุกรูปแบบ

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 พบว่ามีเด็กเกือบ 9,000 คนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะเดียวกันผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวนร้อยละ 4 หรือคิดเป็นประมาณ 470,000 คน เคยถูกลงโทษทางร่างกายอย่างรุนแรงมากที่บ้าน ในขณะที่แต่ละปีกลับมีผู้แจ้งเหตุรุนแรงต่อเด็กผ่านสายด่วน 1300 เพียงแค่ไม่กี่พันราย

การศึกษาทั่วโลกขององค์การยูนิเซฟชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงต่อเด็กเกิดขึ้นในทุกช่วงอายุของเด็กและเกิดในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือสถานที่ที่เด็กๆ ควรได้เรียนรู้ มักกระทำโดยบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็ก เหตุการณ์ส่วนใหญ่มักไม่เป็นที่รับรู้หรือไม่มีการรายงาน ความรุนแรงสามารถส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจไปตลอดชีวิต ทำลายการพัฒนาโครงสร้างทางสมองของเด็ก บั่นทอนความสามารถในการเรียนรู้ และอาจส่งผลให้เด็กเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล การทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงการฆ่าตัวตาย

แคมเปญ #หนึ่งเสียงเปลี่ยนชีวิต เปิดตัวด้วยคลิปวิดีโอความยาว 4 นาที จำลองเหตุการณ์ในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่พ่อลงโทษลูกสาวอย่างรุนแรง คลิปวิดีโอแสดงให้เห็นปฏิกิริยาของลูกค้าที่อยู่ในร้าน หลายคนแสดงความเป็นห่วงและกังวลต่อสวัสดิภาพของเด็ก แต่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าไปช่วยเหลือเด็กได้อย่างไร

แคมเปญนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 ตลอดจนบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ของผู้ที่เคยแจ้งเหตุ และเสียงของเด็กที่เคยถูกทำร้าย โดยมีศิลปินชื่อดัง แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล แห่ง วง Got 7 มาร่วมเป็นกระบอกเสียง นอกจากนี้ยังเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่ประชาชนสามารถทำได้ เช่น จัดทำสติ๊กเกอร์ โปสเตอร์ หรือ กิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความตื่นตัวในชุมชน

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า “เด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองเพื่อให้มีวัยเด็กที่ปลอดภัยและเป็นสุข ไม่ควรมีเด็กคนใดต้องใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดกลัว เราอยากเรียกร้องให้ทุกคนตื่นตัวในการปกป้องคุ้มครองเด็กก่อนที่จะสายเกินไป เพราะทุกคนต่างมีส่วนสำคัญในการยุติความรุนแรงต่อเด็กในสังคม”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน