คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

[email protected]

น้าชาติ คนเราฝันได้อย่างไร

ซอมบี้

ตอบ ซอมบี้

พบคำตอบในคลังความรู้ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ว่า ฝัน (Dream) เป็นสิ่งที่ทุกคนคงต้องเคยพบเจอกันมาบ้าง ไม่ได้หมายถึงความฝันในวัยเยาว์ แต่หมายถึงความฝันที่อยู่ในห้วงแห่งการนอนหลับ มีทั้งฝันดี ฝันร้าย บางครั้งฝันเรื่องเดิมซ้ำๆ หรือรู้ตัวว่าฝัน แต่จำความฝันไม่ได้ บางคนเอาความฝันไปตีความต่างๆ นานาตามความเชื่อ แต่วันนี้จะกล่าวด้วยเหตุและผลอย่างวิทยาศาสตร์ถึงการหลับฝัน

เริ่มจากคำถาม “ทำไมเราจึงฝัน?”

อย่าลืมว่า แม้ร่างกายเราจะกำลังนอนหลับพักผ่อน แต่สมอง ไม่ได้ปิดตัวเองไปด้วย มันยังคงทำหน้าที่ดูแลระบบสารเคมีต่างๆ เซลล์ประสาทยังคงทำงานแม้เราจะหลับไปแล้ว โดยมีสมองส่วนในรักษาข้อมูลความจำและส่งข้อมูลในรูปคลื่นสมองไปยังสมองใหญ่

ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วจะกล่าวว่า ขณะที่หลับเรามีการฝันตลอดเวลาก็ว่าได้ เพราะสมองยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เราจำได้บ้างหรือไม่ได้บ้างเท่านั้นเอง

ฝัน มักเกิดขึ้นในการหลับระยะ REM (Rapid Eye Movement Sleep-REM Sleep ระยะของการนอนชนิดนี้กินระยะเวลาประมาณ 20-25% ของเวลาการนอนทั้งหมด) เมื่อกิจกรรมของสมองเพิ่มสูงขึ้นเสมือนว่ากำลังตื่นอยู่ การหลับระยะ REM สามารถบอกได้จากการกลอกไปมาของลูกตาขณะหลับ ทั้งนี้ ฝันสามารถเกิดได้ในการหลับขั้นอื่น แต่ฝันเหล่านั้นมีแนวโน้มสมจริงหรือผู้ฝันจำได้น้อยกว่ามาก

ฝันกินระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่วินาทีไปจนถึง 20 นาที บุคคล มักจำฝันได้มากกว่า เมื่อตื่นขึ้นหากฝันในระยะ REM โดยเฉลี่ยบุคคลมีฝัน 3 ถึง 5 ฝันต่อคืน และมีแนวโน้มนานขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ระหว่างการหลับ 8 ชั่วโมง บุคคลจะใช้เวลากับการฝัน 2 ชั่วโมง ความฝันที่จำได้ส่วนใหญ่ (80-90%) เกิดในช่วงของการหลับแบบตา กระตุก

ความฝันที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการหลับมักจะถูกลืม ส่วนใหญ่ที่ถูกจำได้จะเป็นความฝันที่เกิดขึ้นเมื่อใกล้ตื่น หรือฝันจนตื่น ส่วนใหญ่ความฝันจะอยู่ในรูปของการเห็น รองลงมาจะเป็นรูปของการได้ยิน การสัมผัส และความเจ็บปวด

นักจิตวิทยามองว่าความฝันเป็นหนึ่งในกลไกทางจิต เพื่อปลดปล่อยความกลัดกลุ้มและความตึงเครียดในจิตใจ เมื่อเกิดการฝันขึ้นจะทำให้สภาพจิตใจรู้สึกผ่อนคลายลง

สาเหตุที่ทำให้คนเราฝัน ได้แก่ 1.ฝันที่มาจากความเจ็บปวด 2.ฝันจากเรื่องค้างคาใจ และ 3.ฝันอันเนื่องมาจากประสบการณ์ในอดีต

ขณะที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวเยอรมัน บิดาแห่งจิตวิทยา เชื่อว่าความฝันเป็นความปรารถนาลึกๆ ภายในจิตใจของมนุษย์ มักจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องราวที่คนเราอยากจะทำเป็นอย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องความรุนแรงทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศ เป็นต้น

ดังนั้นจิตใต้สำนึกจึงเก็บรวบรวมความปรารถนาเหล่านี้เอาไว้และแสดงออกมาในรูปแบบของจินตนาการในความฝันขณะนอนหลับแทน เราจึงมักจะฝันเรื่องที่ไม่อาจเกิดขึ้นจริงได้

สิ่งที่มีอิทธิพลกับความฝัน คือ สภาพจิตใจ, การแพ้อาหาร-แพ้ยาบางชนิด, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากซึ่งรบกวนการนอนหลับอย่างสงบ,

นอกจากนี้ การเจ็บไข้ได้ป่วย บ่อยครั้งที่ร่างกายส่งสัญญาณมาให้เรารับรู้ทางความฝัน ก่อนที่อาการเจ็บป่วยนั้นๆ จะปรากฏจริงๆ, สภาพแวดล้อมของห้องนอน เช่น ความร้อน/หนาว ความมืด/สว่าง เสียง ซึ่งล้วนสร้างความกดดันให้แก่ร่างกายและจิตใจก็อาจสะท้อนออกมาในความฝันได้

ทิศทางของที่นอน บางคนแนะนำว่าถ้าหันหัวนอนไปทาง ขั้วแม่เหล็กโลกขั้วเหนือ เพื่อให้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าในร่างกายเราสอดคล้องกับสนามแม่เหล็กโลก จะทำให้เรามีความกลมกลืนกับพลังงานตามธรรมชาติ ช่วยให้หลับสนิทและฝันได้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีฝันในลักษณะอื่นๆ ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่กล่าวมา บางครั้งก็อาจเกิดจากสภาวะแวดล้อม ซึ่งนักวิจัยทั่วโลกก็ยังคงศึกษากระบวนการการทำงานของสมองกับสภาพจิตใจเพื่อจะตีความหมายของความฝันออกมาในทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้นอยู่เรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน