สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานและเยี่ยมชมนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ณ อาคารว่องวานิช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เฝ้าฯ รับเสด็จ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.

โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรห้อง Surgical day care chemotherapy ที่ชั้น 8 ต่อมาเสด็จลงชั้น 2 ทอดพระเนตรเครื่อง CT Mammogram จากนั้นประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคาร ภปร. เสด็จขึ้นชั้น 18 เข้าห้องประชุมใหญ่ ประทับพระราชอาสน์ พระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้บริจาคโลหิต ผู้ช่วยเหลือกิจการเหล่ากาชาดจังหวัด และทายาทผู้บริจาคดวงตา ต่อมาประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวรฯ พระราชทานพระราชวโรกาสให้บุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ก่อนเสด็จขึ้นชั้น 9 ทรงเป็นประธานการประชุมกรรมการสภากาชาดไทย ครั้งที่ 324

รศ.นพ.กฤษณ์เปิดเผยว่า ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเล็งเห็นความสำคัญของการรักษามะเร็งเต้านม จึงปรับปรุงและพัฒนาการรักษาขึ้นใหม่ โดยมีนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งเต้านมแบบครบวงจรแห่งเดียวในโลก ล่าสุดทางโรงพยาบาลติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านมที่ใช้สำหรับบุคคลทั่วไปเป็นเครื่องแรกของโลกที่สามารถสร้างภาพสามมิติของเต้านม โดยไม่มีการบีบเต้านม และใช้เวลาตรวจเพียง 10 วินาทีเท่านั้น ทั้งยังระบุตำแหน่งจุดที่ผิดปกติได้แม่นยำ

ภาพที่ได้จากการเอกซเรย์มีความละเอียดสูง หมุนได้ทุกทิศทางและขยายภาพเฉพาะจุดได้ หากตรวจพบเซลล์ผิดปกติแพทย์สามารถเปิดด้านข้างของเครื่องและนำเครื่องมือเข้าไปเจาะชิ้นเนื้อนำไปตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โรงพยาบาลได้ส่งแพทย์ไปร่วมพัฒนากับทางบริษัทผู้ผลิตด้วย โดยเครื่องนี้มีมูลค่าประมาณ 56 ล้านบาท

รศ.นพ.กฤษณ์กล่าวต่อว่า เพื่อเพิ่มมาตรฐานการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม จึงเพิ่มศักยภาพการตรวจแมมโมแกรมโดยการติดตั้งเครื่องแมมโมแกรมสามมิติ ซึ่งก่อนหน้านี้ติดตั้งเครื่องแรกเมื่อปี 2551 ถือเป็นเครื่องแรกในภูมิภาคนี้ ล่าสุดติดตั้งเครื่องที่พัฒนาเป็นรุ่นที่ 3 เป็นเครื่องแรกในประเทศไทย คือ Affirm Tomosynthesis ที่สามารถตรวจเต้านมสามมิติพร้อมฉีดสารทึบรังสีระบุพิกัดจุดที่ผิดปกติได้แม่นยำ ทั้งยังติดตั้งอุปกรณ์เจาะชิ้นเนื้อและวางลวดนำเพื่อระบุตำแหน่งในการผ่าตัดได้ ปัจจุบันมีเครื่องบริการรวมทั้งหมด 3 เครื่อง นอกจากนี้ยังติดตั้งเตียงระบุพิกัดด้วยระบบสามมิติที่ระบุตำแหน่งความผิดปกติใน เต้านมด้วยระบบสามมิติในท่านอน เพื่อใช้เจาะชิ้นเนื้อและวางลวดนำระบุตำแหน่งในการผ่าเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าศูนย์กล่าวอีกว่า ถัดมาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยตรวจหามะเร็งเต้านม ถือว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ได้แก่ เครื่องตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยการวัดอุณหภูมิด้วยรังสีอินฟราเรด เป็นการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยการวัดอุณหภูมิในจุดต่างๆ ของเต้านมที่ละเอียดที่สุดเครื่องแรกของประเทศไทย เนื่องจากเซลล์มะเร็งที่มีการแบ่งตัวเร็วขึ้นจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีการสร้างเส้นเลือดใหม่ ทำให้กล้องตรวจพบบริเวณที่มีเซลล์แปลกปลอมก่อนจะกลายเป็นก้อนมะเร็ง กล้องตัวนี้ทำงานด้วยรังสีอินฟราเรด พบความต่างอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 0.02 องศาเซลเซียส จุดเด่นของเครื่องมือชนิดดังกล่าวทำให้ไม่ต้องบีบเต้านม ไม่ต้องสัมผัสรังสีเอกซเรย์ และไม่ใช้การฉีดยาเข้ามาในกระบวนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับเต้านม และเครื่องตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยการวัดอุณหภูมิด้วยรังสีอินฟราเรด เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก จึงต้องใช้เวลาศึกษาและทดสอบประสิทธิภาพก่อน คาดว่าต้องใช้เวลาราว 3 เดือน ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้บริการ

การทำงานของทั้ง 3 เครื่องนั้นมีประสิทธิภาพต่างกัน แต่ล้วนช่วยให้การวินิจฉัยรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งมีโอกาสหายเป็นปกติมากถึงร้อยละ 90 นอกจาก 3 เครื่องดังกล่าวศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ ยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกมาก นับว่าเป็นศูนย์ที่มีเครื่องมือทันสมัยครบถ้วนมากที่สุดแห่งเดียวในโลก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน