คอลัมน์ ข่าวสดหลากหลาย

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และ “โครงการวัดบันดาลใจ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ จัดงาน “W(h) at If …” Forum & Exhibition ถ้าวัด… ในวันนี้ จะเป็นวัดที่คนไทยอยากเห็น” เพื่อรวบรวมแนวคิดและสร้างแรงบันดาลใจ ในการ “พลิกฟื้น” วัดอย่างร่วมสมัย

ภายในงานมีนิทรรศการแสดงผลงาน การออก แบบเพื่อช่วยแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ให้กับวัด แสดงตัวอย่างปัญหาและแนวทางแก้ไขที่นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ของนักออกแบบอาสาสมัครโครงการวัดบันดาลใจ

นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร กล่าวถึงที่มาของโครงการวัดบันดาลใจ ว่าเป็นหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่วัดให้เป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะของเมืองที่ตอบโจทย์การพัฒนาสุขภาวะทั้ง 4 มิติ คือ กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ โดยพลิกฟื้นทุนทางธรรมชาติ ทุนทางวัฒนธรรม กิจกรรมและการจัดการเพื่อดึงคนยุคใหม่กลับเข้าวัด

มี 9 วัดนำร่อง ได้แก่ วัดสุทธิวราราม กทม. วัดนางชี กทม. วัดชลประทานรังสฤษดิ์ (อารามหลวง) จ.นนทบุรี มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ วัดมหาจุฬาลงกรณ์ราชูทิศ จ.พระนครศรีอยุธยา วัดภูเขาทอง จ.พระนคร ศรีอยุธยา วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม วัดป่าโนนกุดหล่ม จ.ศรีสะเกษ และ วัดศรีทวี จ.นครศรีธรรมราช

การทำงานในครั้งนี้มีสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจกับวัด ชุมชน และองค์กรท้องถิ่น เพื่อหาจุดสมดุลร่วมกัน ในการจัดทำผังแม่บทในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม กิจกรรม และพื้นที่โดยรอบชุมชน และทั้ง 9 วัดที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรม ถือเป็นตัวแทนของวัดในหลากหลายรูปแบบ ทั้งวัดกลางเมือง วัดตามวิถีบวร วัดป่าสายปฏิบัติ วัดกับการเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน วัดพัฒนาโบราณสถาน

น.ส.ปริยาภรณ์ สุขกุล ผู้จัดการโครงการวัดบันดาลใจ สถาบันอาศรมศิลป์ บอกว่า การพลิกฟื้นวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ สร้างเสริมสุขภาพทางกาย จิตใจ และสุขภาวะทางสังคม ในปีแรกออกแบบวัดทั้ง 9 แห่ง จากนั้นจะขยายเพิ่ม 40 แห่ง ประเด็นในการออกแบบวัดที่พบบ่อยคือ ความร่มรื่นหรือสัปปายะ โดยเฉพาะวัดในเมือง จึงเกิดเป็นแนวทางการออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น ลดภาวะวัดร้อน จึงเกิดการวางผังจัดการพื้นที่ใหม่ ทำให้พื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่สีเขียวอยู่รวมกันได้อย่างร่มรื่น สบายอาราม

วัดส่วนใหญ่มักขยายพื้นที่ก่อสร้างอาคารโดยไม่มีผังรองรับและไม่เหลือพื้นที่โล่ง จึงใช้การออกแบบผังแม่บท ปรับให้สภาพแวดล้อมให้วัดโล่งโปร่งสบาย รวมถึงการจัดโซนนิ่งการใช้พื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และพื้นที่บริการชุมชน เพื่อให้มีการบริหารจัดการและการจัดการสัญจรที่เหมาะสมตามสมัย พร้อมปรับกิจกรรมธรรมะให้ร่วมสมัย เพื่อธรรมะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ วัดเก่าของเราแต่งก่อน-ของเก่ามาเล่าใหม่ วัดจำนวนมากที่เป็นมรดกทางธรรมและทางวัฒนธรรม ทำอย่างไรให้วัดเหล่านี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และพลิกฟื้นกิจกรรมในอดีต ปิดทองหลังวัด ชวนทุกคนมาช่วยกันจัดการเรื่องหลังวัด โดยวิธีบริหารจัดการแบบใหม่

ด้าน นายนำชัย แสนสุภา ภูมิสถาปนิก บริษัท ฉมา จำกัด กล่าวว่า สำหรับวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จ.นครพนม ที่กำลังขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ตนในฐานะชาวนครพนมโดยกำเนิด จึงเลือกมาร่วมทำแผนแม่บทในการปรับปรุงภูมิทัศน์วัด สืบเนืองจากทางวัดมีโครงการจะย้ายร้านค้าไปบริเวณหน้าวัด นำพื้นที่ดังกล่าวมาปรับปรุงให้เป็นพุทธอุทยานเพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของทางวัด ทั้งยังรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวภายในวัด และคนในพื้นที่เข้ามาทำกิจกรรมได้ โดยปรับพื้นที่เพื่อความเหมาะสมต่อการใช้งานและผู้ที่เข้ามามองเห็นองค์พระธาตุพนมได้ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเขียนแบบ

นอกจากนี้ ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ยังศึกษาข้อมูลและออกแบบวางตำแหน่งรอยธรรมสำคัญทั้ง 10 จุด บริเวณกำแพงแก้วโดยพุทธศาสนิกชนและนัก ท่องเที่ยว ได้เรียนรู้คุณค่าผ่านงานพุทธศิลป์ อาทิ ภาษิตเตือนใจไทอีสานรอบระเบียงแก้ว จากภาพปูนปั้นนูนต่ำ เพื่อเตือนใจในการใช้ชีวิต ซึ่งในอนาคตจะมีการอบรมเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่ที่ให้มีมัคคุเทศก์น้อย เพื่อนำเสนอเรื่องราวต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน