พระราชดำรัสยอมจำนน ของจักรวรรดิญี่ปุ่น(ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

พระราชดำรัสยอมจำนน ของจักรวรรดิญี่ปุ่นฉบับวานนี้ (20 ส.ค.) “มาเก๊า” ถามถึงคำประกาศยอมแพ้ของจักรพรรดิญี่ปุ่นว่า ยุติสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวานตอบถึงรายละเอียดของถ้อยพระราชดำรัส อันเรียกว่า “เกียวกุอง โฮโซ” แล้ว วันนี้มาอ่านใจความสำคัญ

“หลังจากใคร่ครวญเกี่ยวกับทิศทางหลักของโลกและเงื่อนไขปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับจักรวรรดิของเราในวันนี้ เราได้ตัดสินใจให้ข้อยุติของสถานการณ์ในปัจจุบันนั้นมีผลไปในมาตรการพิเศษนี้ เราได้มีบัญชาให้รัฐบาลจักรวรรดิ แจ้งไปยังสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน สหภาพโซเวียต สี่ประเทศ ว่าเรายอมรับปฏิญญาที่พวกเขาได้ร่วมกันประกาศไว้

เพื่อเดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและความสุขร่วมกันของชาติทั้งหลาย รวมทั้งความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาราษฎรของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเด็จพระบูรพมหาจักรพรรดิราชเจ้าได้ทรงสืบทอดรักษา เป็นพันธกรณีอันมั่นคงสืบต่อกันมาจนถึงตัวเรา ในชั้นต้น เราจึงประกาศสงครามต่อสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา สองประเทศ ด้วยเหตุผลคือ เพื่อสำแดงถึงการดำรงอยู่ของจักรวรรดิอย่างแท้จริง และเพื่อสร้างเสถียรภาพในเอเชียบูรพา การล่วงละเมิดอธิปไตยของชาติอื่น หรือการรุกรานดินแดนในทำนองเดียวกัน หาใช่ความตั้งใจของเรามาแต่ต้นไม่

ทว่าบัดนี้สงครามได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบสี่ปี แม้ทุกคนจะทำดีที่สุด ทั้งการรบอันกล้าหาญของกองทัพบกและกองทัพเรือ ความเพียรพยายามของเหล่าข้าราชการของเรา และการทำงานอย่างอุทิศตนของประชาชนกว่าร้อยล้านคนของเรา สถานการณ์สงครามได้ดำเนินไปจนไม่เอื้อประโยชน์ต่อญี่ปุ่นอีก ในขณะที่ทิศทางหลักของโลกนี้ได้หันกลับมาทำร้ายผลประโยชน์ของชาติ

มิหนำซ้ำศัตรูได้เริ่มใช้ระเบิดชนิดใหม่อันร้ายกาจที่สุด มีอำนาจทำลายล้างมหาศาลเกินคณานับ คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปมากมายเหลือประมาณ หากเรายังต่อสู้ต่อไป ผลลัพธ์จะไม่เป็นเพียงแต่การสิ้นชาติสิ้นเผ่าพันธุ์ของชาติญี่ปุ่น แต่ยังอาจนำไปสู่การสูญสิ้นอารยธรรมมนุษย์อย่างถาวร

ในเมื่อการณ์เป็นไปดังนี้ เราจะช่วยเหลือประชาราษฎรนับล้านของเรา หรือชดเชยความผิดของเราต่อหน้าวิญญาณของสมเด็จพระบูรพมหาจักรพรรดิราชได้อย่างไรเล่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงให้รัฐบาลจักรวรรดิยอมรับปฏิญญาที่มหาอำนาจร่วมกันประกาศไว้…”

และท้ายที่สุด พระองค์ตรัสถ้อยคำที่มีชื่อเสียงว่า “แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราจะต้องดำเนินไปตามกระแสแห่งกาลเวลา อดทนในสิ่งที่เหลือจะทานทน ข่มกลั้นในสิ่งที่ยากจะข่มกลั้น เพื่อถากถางปูทางสู่มหาสันติภาพอันจะยั่งยืนสืบไปนับพันปี”

ปฏิญญาที่พระองค์มีรับสั่งถึง คือ ปฏิญญาพ็อตสดัม (Potsdam Declaration) ซึ่ง 4 ชาติใหญ่ร่วมกันเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข การประชุมนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1945 ที่เมืองพ็อตสดัม เยอรมนี การประชุมครั้งนี้ได้แถลงข้อปฏิบัติหากจักรวรรดิญี่ปุ่นยอมจำนน นอกจากนี้ยังมีคำเตือนอีกว่าญี่ปุ่นอาจจะเผชิญหน้ากับ “ความล่มสลายอย่างสิ้นเชิงในไม่ช้า” หากไม่ยอมจำนน ซึ่งเป็นคำเตือนถึงการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์

เนื้อหาในพระราชดำรัสถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษและออกอากาศไปยังดินแดนโพ้นทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาเดียวกัน โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลางได้บันทึกเสียงการออกอากาศครั้งนี้ไว้ และคำแปลภาษาอังกฤษของพระราชดำรัสตีพิมพ์เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ The New York Times

บันทึกไว้ด้วยว่า วันเดียวกับที่มีการกระจายเสียงพระราชดำรัส โคเรชิกะ อะนามิ รัฐมนตรีกระทรวงสงครามของญี่ปุ่นในขณะนั้น ได้ฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้อง (Seppuku) พร้อมทิ้งจดหมายลาตายมีข้อความว่า “ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานอภัยโทษในอาชญากรรมอันใหญ่หลวงด้วยความตายนี้”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน