ป้าคำมูล-ขวัญเมือง ขวัญใจเด็กพิเศษ : รายงานพิเศษ

แม้ค่าย “Nature, You & I ธรรมชาติ เธอและฉัน” จะปิดฉากไปแล้ว แต่ภารกิจในการดูแลพัฒนาและบำบัดเด็กพิเศษ 65 คน ยังคงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ครูบาอาจารย์และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

รายงานพิเศษ

พระชายกลาง อภิญาโณ ประธานมูลนิธิสหชาติ กับเซน

เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมมีทั้งเด็กออทิสติก เด็กพิการและเด็กที่มีปัญหาด้านสติปัญญาหลากหลายรูปแบบ

กิจกรรมช่วง 2 คืน 3 วัน ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย และค่ายสุทธสิริโสภา อ.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา จัดโดยศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย (ENVIRONMENTAL EDUCATION CENTRE THAILAND : EEC THAILAND) นำโดย “อเล็กซ์ เรนเดลล์” นักแสดงผู้รณรงค์อนุรักษ์ช้าง และ นายอลงกต ชูแก้ว หรือ ครูกต เป็นเจ้าภาพจัด โดยมีนักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมเป็นพี่เลี้ยงคอยอำนวยความสะดวกให้น้องๆ

รายงานพิเศษ

อเล็กซ์-ครูกต

รายงานพิเศษ

อเล็กซ์โอบกอดลาป้าคำมูลในวันปิดค่าย

ค่ายนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะช่วงเรียนรู้กับครูช้าง/สัมผัสช้าง/ให้อาหารช้าง/เล่นน้ำกับช้าง ทำให้เด็กๆ มีความสุขกันมาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะได้สัมผัสกับช้างโดยตรง ทั้งลูบคลำ จับงวง ให้อาหารกับช้างแสนรู้ 2 เชือก คือครูคำมูล หรือป้าคำมูล ช้างพังอายุ 60 ปี กับช้างพลาย “ขวัญเมือง” อายุ 9 ปี ซึ่งเจ้าขวัญเมืองนั้นเป็นช้างที่มีอารมณ์ดี เป็นช้างขี้เล่น ถ้าได้ยินเสียงดนตรีมันจะส่ายหัวไปมา ทำท่าเต้นน่ารักมาก

สำหรับป้าคำมูลนั้น หากใครติดตามข่าวในวงการช้างจะรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะเป็นช้างที่มีข่าวโด่งดัง เนื่องจากเป็นช้างตัวแรกของโลกที่ได้รับการผ่าตัดนิ่วอุดตันในทางเดินปัสสาวะเป็นผลสำเร็จ ฝีมือคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) โดยมีจำนวนนิ่วมากถึง 162 ก้อน ขนาดตั้งแต่ 2-10 ซ.ม. หรือเท่ากับผลแอปเปิ้ล ทั้งนี้ไม่รวมก้อนเท่าเม็ดทรายอีกจำนวนมาก โดยก้อนนิ่วทั้งหมดมีน้ำหนักรวมถึง 8 ก.ก.เลยทีเดียว

รายงานพิเศษ

ครูกตเล่าว่า 8 ปีที่ผ่านมาป้าคำมูลมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เด็กผู้มีความต้องการพิเศษได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และสังคม เพราะเป็นช้างใจดี มีความเป็นกันเอง มีเมตตา ไม่โกรธและให้โอกาสกับเด็กกลุ่มนี้มาตลอด อย่างเด็กตาบอดบางคนคลำไปโดนลูกตาป้าคำมูลก็มี ขณะที่บางคนทั้งชีวิตนั่งแต่รถวีลแชร์ พอมาทำกิจกรรมกับป้าคำมูลถึงกับลุกขึ้นจากวีลแชร์เดินมาหาแล้วจับหูป้า เด็กคนนั้นชื่อบุญเติม ซึ่งปีนี้ก็เดินได้นานขึ้น

รายงานพิเศษ

ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ พ่อของเซน

ส่วนเด็กอีกคนชื่อ “เซน” ด.ช.ศิรา ทวีเกียรติ อายุ 7 ขวบ ปีที่แล้วยังคลานอยู่ แต่ปีนี้เดินได้แล้ว ได้ไปขี่หลังป้าคำมูล และให้อาหารอย่างใกล้ชิดสนิทสนม ตนเองเชื่อว่าป้าคำมูลคงจำเด็กคนนี้ได้ โดยเฉพาะในช่วงป้อนข้าวโพดดิบ เพราะป้อนให้แล้วเซนก็กัดกินข้าวโพดนั้นด้วย สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากป้าคำมูล

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประติมากรรมดินด่านเกวียน ที่น้องๆ ครอบครัวและพี่เลี้ยงจะช่วยกันปั้นเป็นตัวช้าง ซึ่งฝีมือการปั้นของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนช้างเสียทีเดียว หรือไม่สวยในสายตาของใครบางคน แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ ที่โครงการ “Nature, You & I ธรรมชาติ เธอและฉัน” เน้น ทว่าสองมือที่เด็กๆ ปั้นจนเป็นตัวช้าง ร่วมกับพ่อแม่ พี่น้องและพี่เลี้ยงจิตอาสามีความหมายมีคุณค่ามากกว่า ช้างปั้นที่เห็นเป็นตัวเป็นตน เพราะมันเป็นช้างพิเศษที่เด็กพิเศษตั้งใจปั้นอย่างสุดความสามารถ พวกเขาทำไปด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข ด้วยรอยยิ้มในหัวใจ ซึ่งจากความพิการของพวกเขาอาจจะแสดงออกไม่เหมือนเด็กปกติทั่วไป

รายงานพิเศษ

อ้อม-ลูกสาว

การจัดกิจกรรมค่ายช่วงเปิดตลาดนัดบนยอดดอย “อ้อม”พิยดา อัครเศรณี แม่ของน้องนาวาก็มาร่วมด้วย โดยเปิดร้านขายขนมในราคาชิ้นละ 2 บาท ร่วมกับร้านค้าอื่นๆ รวมทั้งหมด 22 ร้าน เพื่อให้เด็กๆ ได้ซื้อตามใจชอบ ทุกร้านจะขายในราคาชิ้นละ 2 บาทเท่ากันหมด

อ้อมเล่าว่า ตั้งแต่ลูกสาวอายุ 4 ขวบก็มาเข้าค่ายกับ “อเล็กซ์” ทุกครั้ง เพราะอยากให้ลูกได้สัมผัสธรรมชาติ เป็นการเรียนนอกห้องเรียนอีกรูปแบบหนึ่ง และตนเองก็เข้ามาเป็นจิตอาสาด้วย อีกทั้งเป็นการฝึกลูกให้เป็นจิตอาสาตั้งแต่เด็ก เพื่อให้มีจิตใจเข้มแข็ง ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้รู้ว่าในโลกใบนี้ไม่ได้มีความสวยงามอย่างเดียว แต่ลูกสามารถทำให้ตัวเองมีจิตใจที่สวยงามมีจิตใจดีและสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้

รายงานพิเศษ

ปั้นรูปช้างส่งเข้าประกวด

อย่างที่ครูกตเล่าให้ฟังว่า เซนเป็นเด็กคนหนึ่งจากปีที่แล้วที่ยังคลานอยู่ พอมาปีนี้เดินได้แล้ว มาฟังกันว่าการเข้าค่ายช่วยเด็กคนนี้อย่างไรบ้าง

นายศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ พ่อของ ด.ช.ศิรา ทวีเกียรติ หรือ เซน เล่าว่า ลูกชายเป็นอัลฟี่ซินโดรม ซึ่งเกิดจากโครโมโซมคู่ที่ 9 ขาดแหว่งไป ทำให้พัฒนาการด้านร่างกายและสติปัญญาช้า ร่วมด้วยกล้ามเนื้อพัฒนาช้า ในไทยพบอาการป่วยแบบนี้มีแค่ 5 รายเท่านั้น มาเข้าค่ายนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว ทำให้ลูกชายมีพัฒนาดีขึ้นจากปีก่อนยังคลานอยู่ แต่ปีนี้สามารถเดินได้แล้ว

รายงานพิเศษ

ค่ายนี้มีประโยชน์ต่อเด็กพิเศษมาก เพราะที่อื่นไม่เปิดโอกาสให้แบบนี้ ที่นี่ให้อิสระแก่เด็กและมีความปลอดภัยสูง ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจว่าพวกเขาสามารถจูงช้าง และขี่ช้างได้ด้วย นอกจากนี้ยังทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ เกิดความรักธรรมชาติ ที่สำคัญทำให้เห็นว่าอุปสรรคทางร่างกายไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อม

นางชนิกา ชั้นไพบูลย์ เป็นผู้ปกครอง อีกคนที่นำลูกสาวที่อยู่ศูนย์การเรียนรู้พิเศษประภาคารปัญญา ตลิ่งชัน มาเข้าค่าย เธอบอกว่า ลูกสาวอายุ 24 ปี เป็นโรควิลเลี่ยมซินโดรม มีอาการหูตึง สติปัญญาพัฒนาช้า และหัวใจรั่ว เข้าค่ายเป็นปีที่ 2 ลูกสาวมีพัฒนาการดีขึ้น สาเหตุที่มาเข้าค่ายนี้ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ธรรมชาติ และได้ร่วมทำกิจกรรมกับคนอื่น ซึ่งการเข้าค่ายของเด็กพิการต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายอย่าง แสดงให้เห็นความตั้งใจในการจัดของ EEC THAILAND

ทีนี้มาฟังเจ้าภาพจัดกันบ้าง อเล็กซ์พูดถึงผลที่ได้จากค่ายนี้ว่า สิ่งที่เห็นชัดคือพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สมองและจิตใจของเด็ก และยังเห็นการพัฒนาทางสังคมที่ค่อนข้างจะเปิดมากขึ้น เชื่อมั่นว่ากระบวนการแบบนี้สร้างสิ่งดีๆ ให้กับเด็กกลุ่มนี้ได้ รู้สึกดีใจที่สร้าง EEC THAILAND ขึ้นมา โดยมีครูกตเป็นผอ.ศูนย์ และสามารถสร้างเครือข่ายขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือ เด็กๆ ที่มีความต้องการพิเศษเหล่านี้ ซึ่งการจัดค่ายครั้งนี้เป็นการทำ CSR ของศูนย์ด้วย โดยมีหลายภาคส่วนสนับสนุน

นับเป็นอีกค่ายที่สร้างเสียงหัวเราะและความสุขให้กับผู้เข้าร่วม ที่มีทั้งเด็กพิเศษ ผู้ปกครองและพี่เลี้ยงจิตอาสากว่า 400 ชีวิต

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

20190922_130016.tif

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน