มหิดลคว้ารางวัลโลกขับร้องประสานเสียง : สดจากเยาวชน

มหิดลคว้ารางวัลโลก – MU Choir คว้า 5 รางวัล จากการแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซีย ในงาน The 8th BICF – Bali International Choir Festival และ 2 รางวัลจากงาน Singapore 12th International Choral Festival Orientale Concentus ที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2562

มหิดลคว้ารางวัลโลก มหิดลคว้ารางวัลโลก

คณะนักร้องประสานเสียงมหาวิทยาลัยมหิดล (MU Choir) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2554 ในสมัยที่ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล วัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองในปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554

MU Choir ออกแสดงต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในโครงการประกวดการขับร้องเพลงประสานเสียงอุดมศึกษา เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ คณะนักร้องแสดงความสามารถในการร้องอย่างโดดเด่น และได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันระดับภาค และรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดระดับประเทศ

มหิดลคว้ารางวัลโลก

จากการได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทำให้คณะนักร้องเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและมีโอกาสแสดงในงานสำคัญต่างๆ ของมหาวิทยาลัย งานในระดับชาติและนานาชาติ อาทิ ประเทศรัสเซีย โปแลนด์ และสโลวะเกีย การแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสนใจเข้าร่วมจากประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ทั้งโปแลนด์ บัลแกเรีย ยูเครน รัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฯลฯ โดยวงขับร้องประสานเสียง MU Choir เป็นตัวแทนจากประเทศไทยและเอเชียเพียงวงเดียว

สมาชิก MU Choir เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะ/สถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีใจรักในการร้องเพลง ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศาสนศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ฯลฯ

ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการอำนวยเพลงด้านการขับร้องประสานเสียง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการเพลงคณะนักร้องประสานเสียง MU Choir กล่าวว่า MU Choir เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เราต้องการเผยแพร่กิจกรรมดนตรีไปยังนักศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องเรียนเอกดนตรี เพื่อให้เสียงเพลงเข้าไปสู่จิตใจ ให้นักศึกษาผ่อนคลายความเครียดจากการเรียน

มหิดลคว้ารางวัลโลก

ปาล์มมี่

..ปฏิญญา ตริวิวัฒน์กุล หรือ ปาล์มมี่ นักศึกษาวิทยาลัยศาสนศึกษา ชั้นปีที่ 4 เผยว่า การได้มาร่วมวง MU Choir ทำให้ได้รู้จักเพื่อนจากหลากหลายคณะ ช่วยให้เรามีสังคมมากขึ้น

ด้านน้องใหม่ของวง ..พัตรสินี ตระการไพโรจน์ หรือ ฝ้าย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึง การแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซียว่า ประทับใจเพราะเป็นการแข่งขันครั้งแรกในฐานะสมาชิกวง ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย

มหิดลคว้ารางวัลโลก

ฝ้าย

ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง การทำงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่น และการรับมือกับอุปสรรคหรือปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมองว่าการได้ทำในสิ่งที่เรารัก มักจะนำความสุขมาให้เราเสมอ

เช่นเดียวกับ นายภูบดี อภิรติธรรม หรือ ภู นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มองว่าเป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตนเอง ฝึกประสบการณ์ และเรียนรู้วัฒนธรรมต่างชาติ การเรียนหนักแล้วมาร้องเพลงเหมือนได้ผ่อนคลายตัวเอง ได้พักผ่อนสมอง ทำให้มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น

มหิดลคว้ารางวัลโลก

ภูบดี

ส่วน ..ชฎาทิพ จงไกรรัตนกุล หรือ เชอรี่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักร้องประสานเสียงที่ร้องได้ทั้งเสียง Alto ซึ่งเป็นเสียงต่ำ และเสียง Soprano ซึ่งเป็นเสียงสูง มองว่า Soprano เป็นเสียงที่ไพเราะเสียงหนึ่ง ต้องใช้พลังในการทำให้เสียงขึ้นไปมากกว่า Alto ที่ใช้ chest tone เป็นหลัก และให้ความรู้สึกอบอุ่น ทุกระดับเสียงล้วนมีความสำคัญ ทำให้เพลงมีมิติมากขึ้นเวลาร้องสอดประสานกัน

มหิดลคว้ารางวัลโลก

เชอรี่

ดร.ฤทธิ์เผยถึงจุดเด่นที่ทำให้ MU Choir คว้ารางวัลในระดับโลกว่าการขับร้องประสานเสียงเพลงไม่ใช่รากเหง้าของวัฒนธรรมไทย แต่มาจากตะวันตกอย่างเพลงที่ร้องกันในโบสถ์ที่เราคุ้นเคย แต่พอคณะกรรมการรู้ว่าเรามาจากประเทศไทย เขาก็อยากฟังเพลงไทยของเรา จึงไม่จำเป็นต้องเอาบทเพลงฝรั่งมาใช้ในการแข่งขันเพียงอย่างเดียว

แต่เราสามารถเอาเพลงไทยๆ อย่างเพลงไทยเดิม เพลงลูกกรุง และเพลงพื้นบ้านของเรามาประยุกต์ขับร้องประสานเสียงได้ ถือเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมที่กำลังเป็นที่ต้องการในการแข่งขันระดับโลก

ติดตามผลงาน MU Choir ได้ที่ FB : MU Choir

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน