เกม RPG ในปัจจุบันนี้มีรูปแบบการดำเนินเรื่องหลากหลายแนวให้ผู้เล่นได้สัมผัส แน่นอนว่าแนวยอดนิยมคงไม่พ้นการดำเนินเรื่องในโลกที่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายแฟนตาซีเต็มขั้น โลกที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาด บ้างเป็นมิตร บ้างก็เป็นภัยร้ายแรงต่อมนุษย์ บางเกมก็มีเรื่องราวความเป็นมาของโลกนั้นให้ผู้เล่นได้อ่านเพื่อซึมซับความเป็นมากันด้วยจำนวนกระดาษนับร้อยหน้าและยังมีการขยายขอบเขตโลกออกไปอย่างมากมายมหาศาล แต่บางเกมอาจเลือกดำเนินเนื้อหาในบรรยากาศประหนึ่งนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นดีที่มีเรื่องราวให้ผู้เล่นได้ค้นหามากมาย ทว่าสำหรับ Persona ในภาคนี้ซึ่งถือเป็นเกมหลักภาคที่ 5 ในซีรีส์นั้น (โดยไม่นับภาคย่อยที่แตกแขนงออกไปอีกพอสมควร) ถ้าหากจะมีคำจำกัดความเกมซีรีส์นี้ก็คงเรียกได้ว่าเป็นเกม RPG ที่ผสมผสานระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกแฟนตาซีเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม


เนื้อเรื่อง

Persona 5 นั้นบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอกหนุ่มวัยมัธยมปลายผู้ที่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหญิงสาวที่กำลังตกที่นั่งลำบาก ทว่าผลลัพธ์ที่เขาได้รับกลับมาดันเป็นการต้องโทษและติดทัณฑ์บนเพราะผู้ที่ก่อเหตุวุ่นวายนั้นเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น เขาจึงต้องออกจากบ้านเกิดมาใช้ชีวิตในใจกลางโตเกียวเป็นเวลา 1 ปีโดยที่มีเจ้าของร้านกาแฟ Le Blanc เป็นผู้คุมประพฤติอย่างใกล้ชิด เนื้อหาในช่วงแรกดูจะเปิดตัวราวกับเป็นนิยายสไตล์ slice of life ที่บอกเล่าเรื่องราวซึ่งคนๆ หนึ่งประสบพบเจอในชีวิตทั้งสุขทั้งเศร้า หากแต่เมื่อเกมดำเนินเรื่องราวไประดับหนึ่งจนถึงคราวที่ตัวเอกได้รู้จักกับ Metaverse ได้พบเจอกับแมวพูดได้จอมจุ้นที่ชื่อโดราเอมอน…เอ้ย มอร์กาน่าแล้วนั้น ตัวเอกของเราก็สามารถปลุกพลังที่แฝงอยู่ในตัวนั่นคือ Persona อันเป็นสภาพภาววิสัยของจิตใจตนเองที่ก่อตัวขึ้นมาให้เห็นชัดและคอยช่วยเหลือในการต่อสู้กับเหล่า Shadow อันเป็นจิตใจด้านมืดของผู้คนที่ก่อตัวขึ้นมาใน Metaverse นี้ ความเป็นแฟนตาซีก็แทรกเข้ามาในเกมอย่างเต็มสูบ

เนื้อหาของเกมอาจเรียกได้ว่าเป็นการนำเอาปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริงมาบอกเล่าให้เข้าใจง่ายและย่อยง่าย นั่นเพราะทันทีที่ตัวเอกก้าวเท้าเข้าสู่ห้องเรียนใหม่แห่งโรงเรียนมัธยมปลายชูจิน ผู้คนทั้งโรงเรียนต่างก็ซุบซิบนินทาถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวเอกต้องโดนทัณฑ์บนกันไปต่างๆ นานาโดยไม่มีใครแม้แต่คนเดียวที่กล้าเข้ามาสอบถามความจริงจากตัวเอกโดยตรง ในทีแรกนั้นตัวเอกอาจเรียกได้ว่าแทบไม่มีเพื่อนเลย จนกระทั่งได้พบกับริวจิ ซาคาโมโต้ ผู้ที่โดนนักเรียนคนอื่นตั้งข้อรังเกียจเช่นกันเพราะเขามีภาพลักษณ์เป็นอันธพาลจึงไม่มีใครกล้ามาสุงสิงด้วย ทว่าเมื่อตัวเอกได้ทำความรู้จักกับริวจิ ได้ทราบเรื่องราวความเป็นมา ทั้งสองต่างรู้ว่าพวกตนล้วนแต่โดนเอารัดเอาเปรียบโดนผู้มีอำนาจในสังคมเล่นงานอย่างไม่เป็นธรรมมาด้วยกันทั้งนั้น และเมื่อพวกเขาสามารถใช้พลัง Persona ได้ พวกเขาจึงตัดสินใจที่จะใช้พลังนี้ช่วงชิงสมบัติมาจากด้านมืดในจิตใจของผู้คน ให้เหล่าบรรดาบุคคลที่จิตใจบิดเบี้ยวสำนึกในความผิดที่ตนทำและเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้สาธารณชนได้รับรู้ แน่นอนว่าเมื่อดำเนินเรื่องต่อไป พวกเขาก็ล้วนแล้วแต่ได้พบกับผู้คนที่มีสถานะเป็น “คนนอก” ในวงสังคม ไม่มีที่ให้ตนอยู่ พวกเขาจึงได้รวมตัวกันและใช้พลัง Persona เปลี่ยนแปลงสังคมกันในที่สุด

เกมนี้บอกเล่าเรื่องราวของเหล่า “คนนอก” ผู้มีบาดแผลคล้ายกันซึ่งมารวมตัวกันเพราะต้องการพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าแม้สังคมจะตั้งข้อรังเกียจพวกเขาเพียงใด แต่พวกเขาก็สามารถร่วมกันพิสูจน์ตนเองให้สังคมเห็นคุณค่าได้เช่นกัน ถึงอย่างนั้นตัวเกมก็ไม่ได้มีแต่เนื้อหาเครียดขึงไปเสียทั้งหมดเพราะมุกตลกขำขันมีแทรกมาให้เห็นเป็นระยะ ยิ่งมุกล้อเลียนสารพัด pop culture นั้นมีปรากฏทั้งเกมแน่นอน

ท่านอนตายในตำนานของหยำฉาแห่งดราก้อนบอลก็ถูกนำมาล้อเลียน


เกมเพลย์

ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเกมนี้ผสมผสานความสมจริงกับแฟนตาซีได้อย่างกลมกล่อม และการผสมผสานเช่นนี้ก็เห็นได้ชัดในระบบเกมนั่นเอง ชีวิตด้านหนึ่งเราคือนักเรียนมัธยมปลายธรรมดาแต่ทว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราและพรรคพวกเข้าสู่ Metaverse เราก็จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นจอมโจรมายาผู้มีเป้าหมายในการช่วงชิงจิตใจที่บิดเบี้ยวของผู้คนทันที

ในด้านการใช้ชีวิตประจำวันนั้น เรามีหน้าที่ทั้งหลายอย่างที่นักเรียนมัธยมปลายพึงมีนั่นคือการเรียนการสอบ รวมถึงการผูกสัมพันธ์กับผู้คนมากหน้าหลายตาที่จะคอยส่งเสริมให้เราฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้นที่เรียกว่า Confidant โดยที่ Confidant นี้มีประโยชน์มากในการเล่น เพราะยิ่งเราเพิ่มความสัมพันธ์กับใครคนใดคนหนึ่งมากขึ้นก็จะยิ่งปลดล็อคความสามารถให้เราใช้งานใน Metaverse ได้หลากหลายขึ้น หรือบางคนก็อาจลดราคาค่าสินค้าให้เราถาวรเลยก็มี นอกจากนั้นแล้วบรรดาเพื่อนร่วมทีมทุกคนของเรา หากเราเพิ่มค่าความสัมพันธ์จนสูงสุดก็จะทำให้ Persona ของคนนั้นพัฒนาไปเป็นร่างสุดยอดทำให้การต่อสู้กับ Shadow ง่ายดายขึ้นได้มาก นอกจากนั้นแล้วตัวเรายังมีค่าความสามารถด้านสังคมอีกถึง 5 แบบด้วยกันไม่ว่าจะเป็นความรู้ เสน่ห์ ความกล้า น้ำใจ และความมีประสิทธิภาพในการทำงาน โดยที่แต่ละด้านล้วนแล้วแต่สำคัญเพราะการเพิ่มค่าความสัมพันธ์กับบางคนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากเรามีค่าความสามารถไม่ถึงขั้นที่กำหนด

การชวนเพื่อนในทีม (ที่เราจะคิดเกินเพื่อนก็ได้) ไปดูหนัง
ก็ถือเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ดี

โดยการเพิ่มค่าความสามารถนั้น มีทางเลือกให้เรามากมายในรูปแบบของสันทนาการต่างๆ เช่น การอ่านนิยาย การดูภาพยนตร์ การนั่งเล่นวิดีโอเกมที่ห้อง การไปตีเบสบอลที่ Batting Center หรือการใช้เวลายามเย็นนั่งทบทวนบทเรียน เป็นต้น ทุกอย่างที่มีให้ทำล้วนเป็นกิจกรรมที่เด็กมัธยมปลายคนนึงทำในชีวิตจริงทั้งสิ้น ชีวิตประจำวันของตัวเอกคือสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคม ในแง่นี้จึงทำให้ผู้เล่นสามารถซึมซับการใช้ชีวิตของตัวเอกได้ง่ายมาก อีกทั้งสถานที่ซึ่งสามารถเลือกแวะเวียนไปได้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟฟ้าชิบุยะที่มีรูปปั้นฮะจิโกะสุนัขผู้ซื่อสัตย์ หรือคาบุกิโจซึ่งเป็นแหล่งเริงรมย์ยามราตรีชื่อดัง เป็นต้น

รูปปั้นฮะจิโกะสุนัขผู้ซื่อสัตย์ ใครไปเที่ยวญี่ปุ่นครั้งแรกเป็นต้องแวะถ่ายรูป

 

การนั่งเล่นเกมในห้องก็ช่วยเพิ่มค่าความสามารถทางสังคมให้เราได้เหมือนกัน

สำหรับการใช้ชีวิตในฐานะของ Phantom Thieves หรือจอมโจรมายานั้น ตัวเกมจะจำกัดผู้เล่นด้วยเงื่อนเวลาให้ต้องเคลียร์ดันเจี้ยนที่เรียกว่า Palace ภายในระยะเวลาที่กำหนด หากล่วงเลยเวลาไปเมื่อไหร่ก็จะถือว่าเกมโอเวอร์ทันที โดยลักษณะของ Palace แต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไปตามสภาวะจิตใจของบุคคลแต่ละคน ซึ่งการออกแบบเรียกได้ว่ามีเอกลักษณ์น่าจดจำและมีสไตล์เป็นของตัวเองทั้งนั้น นอกจาก Palace แล้ว เรายังสามารถลงดันเจี้ยน Metaverse ได้ที่จะมีลักษณะของเกมแนว dungeon crawler ที่เป้าหมายของเราคือการลงไปยังชั้นล่างสุด ทว่าจำนวนชั้นที่จะลงได้นั้นจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเราผ่านเนื้อเรื่องในเกมไปเรื่อยๆ มิหนำซ้ำแผนที่ของแต่ละชั้นจะเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาทำให้แม้เราจะกลับมายังชั้นที่เคยผ่านไปแล้วก็ไม่สามารถใช้ความคุ้นเคยให้เป็นประโยชน์ได้แน่นอน ซึ่งบรรดาเควสต์ทั้งหลายของเกม (ซึ่งในเกมเรียกว่า request) ก็ล้วนแล้วแต่เคลียร์ได้ใน Metaverse นี้เอง

เมื่อลุยไปถึงตำแหน่งที่ซ่อนสมบัติก็จะต้องเผชิญหน้ากับบอสประจำ Palace

แก่นหลักของระบบสู้คือ RPG แบบเทิร์นเบสที่เป็นการผลัดกันโจมตี และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเลือกใช้ Persona ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเอกผู้มีพลังของ Wild Card ที่สามารถเรียกใช้ Persona ได้มากกว่า 1 ตัวนี่เอง การนำ Persona ที่มีความสามารถหลากหลายไว้กับตัวจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการพลิกแพลงในการต่อสู้ เพราะศัตรูแต่ละตัวจะมีจุดอ่อนที่ต่างกันออกไป หากเลือกโจมตีโดนจุดอ่อนของศัตรูก็จะทำให้ศัตรูของเราตกอยู่ในสภาวะ down และทำให้เรายังคงโจมตีต่อเนื่องได้อีก 1 เทิร์น ถ้าเราโจมตีจุดอ่อนจนศัตรู down จนหมดเราก็เลือกได้ว่าจะใช้ all-out attack เพื่อกระหน่ำโจมตีชุดใหญ่ปิดฉากทีเดียว หรือเลือกเจรจาเพื่อดึงเอาศัตรูมาเป็น Persona ใหม่ของเราก็ได้ (หากไม่ต้องการจะเปลี่ยนไปไถเงินหรือไอเท็มก็สุดแท้แต่)

You′ll never see it coming.
You′ll see that my mind is too fast for eyes.

ตามที่กล่าวไปว่าตัวเอกนั้นเรียกใช้ Persona ได้มากกว่า 1 ตัว การสลับสับเปลี่ยน Persona ที่แข็งแกร่งกว่าเดิมมาใช้งานแทนจึงเป็นสิ่งที่ผู้เล่นต้องทำตลอดทั้งเกม ดังนั้น Persona ตัวเก่าที่เราไม่ใช้แล้วจึงมีหน้าที่ในการถูกนำไปผสมเพื่อสร้าง Persona ใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ที่สำคัญคือตัวใหม่นั้นสามารถรับโอนสกิลมาจากตัวเก่าได้ จึงทำให้การปรับแต่งเพื่อสร้าง Persona ในแบบที่เราชอบนั้นมีความหลากหลายแทบไม่สิ้นสุด และหากว่า Persona ที่เราผสมอยู่ในสาย arcana ที่เราสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนเอาไว้ในระดับสูงก็จะทำให้ Persona ตัวนั้นได้รับ exp เพิ่มเติมหลังผสมเสร็จจนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งระบบเหล่านี้ก็เป็นระบบที่หยิบยืมมาจากซีรีส์ Shin Megami Tensei ของ Atlus นั่นเอง

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเดิมทีซีรีส์ Persona นี้เป็นเกมที่แตกแขนงออกมาจากซีรีส์ Shin Megami Tensei จึงทำให้บรรดา Persona ในเกมนี้ล้วนแล้วแต่มีหน้าตาและชื่อที่หลายคนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะยังคงเอกลักษณ์งานออกแบบโดยคาซึมะ คาเนโกะเอาไว้อย่างครบครัน และถ้าใครที่เคยอ่านบรรดาตำนานเทพทั้งหลายก็จะรู้จักเหล่า Persona แต่ละตัวได้ในแวบแรกเพราะทีมสร้างใส่ทั้งเทพและมารของสรรพตำนานเอาไว้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ พุทธ ฮินดู ญี่ปุ่น จีน นอร์ส กรีก อาเธอร์เรียน ไอริช หรือแม้แต่ตำนานพื้นบ้านที่ไม่แพร่หลายของแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีให้เห็นเช่นกัน กระนั้น Persona เริ่มต้นของแต่ละคนที่จับเอาตัวละครจากวรรณกรรมหรือบุคคลตามประวัติศาสตร์ที่มีสถานะเป็นจอมโจรมาใช้ก็ถือว่าแปลกใหม่และเข้ากับธีมของภาคที่เป็นจอมโจรมายาไม่น้อย เช่น อาร์แซนน์ ลูแปง หรือ กัปตัน คิดด์ เป็นต้น

คีรีเมขล์ คชสารพาหนะของพญามารที่มาขัดขวางการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ด้วยความที่ตัวเกมทำให้เราต้องใช้ชีวิตทั้งสองสถานะนี้เอง การบริหารจัดการเวลาจึงเป็นสิ่งที่ผู้เล่นต้องตระหนักอยู่เสมอว่าจะใช้เวลา 1 ปีที่โรงเรียนมัธยมปลายชูจินให้คุ้มค่าที่สุดอย่างไร คุณจะเลือกพัฒนาความสามารถด้านสังคมหรือเลือกช่วยเหลือผู้คนในฐานะจอมโจรมายาก็สุดแท้แต่ แต่อย่าลืมว่าจะอย่างไรคุณก็ยังมีสอบกลางภาครอคิวอยู่นะ…


กราฟิก

ในส่วนของกราฟิกเกมนั้น ถ้าเทียบกับบรรดาเกมระดับ AAA ที่ออกมาก่อนหน้านี้บน PlayStation 4 ก็คงต้องถือว่า Persona 5 นั้นทำได้ไม่สมกับพลังเครื่องเท่าไหร่ ส่วนหนึ่งเพราะเดิมทีเกมนี้พัฒนาลง PlayStation 3 ด้วย จึงอาจทำให้ไม่สามารถพัฒนาด้านกราฟิกได้เต็มที่ แต่ทว่าสิ่งที่มาชดเชยคุณภาพกราฟิกได้นั่นคือ art style ของเกมครับ เกมนี้มี art style ที่เป็นตัวของตัวเองและไม่เหมือนใครมาก การเลือกใช้สี การจัดวางองค์ประกอบของเมนูต่างๆ หน้าจอการซื้อของหรือขายของ ล้วนแล้วแต่ทำออกมาได้มีสไตล์มาก ไม่ดูรกเกินไป ไม่ดูล้นเกินไป ทุกอย่างออกมาสวยงามกำลังดี ไม่ว่าจะการตัดฉากหลังสู้จบ หรือหน้าจอตอนเลเวลอัพ ฯลฯ ทุกอย่างทำออกมาได้มีเอกลักษณ์สุดขั้ว

แม้กระทั่งหน้าจอเลือกของสวมใส่ยังทำออกมาได้มีสไตล์

นอกจากการเล่าเรื่องโดยใช้โมเดลตัวละครแบบ 3D แล้ว เกมนี้ยังมีการเล่าเรื่องในฉากสำคัญด้วยคัตซีนอนิเมคุณภาพดีด้วยเช่นกัน และด้วยความที่โมเดลตัวละครในเกมเลือกใช้รูปลักษณ์แบบ cell shade ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูอนิเมอยู่แล้ว การที่จะกล่าวว่าตลอดทั้งเกมให้ความรู้สึกเสมือนกำลังนั่งดูอนิเมซีรีส์ยาวเนื้อหาดีๆ เรื่องหนึ่งก็คงจะไม่ผิดนัก


เพลงประกอบและเสียงพากย์

เสียงพากย์ในเกมเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมครับ ตัวละครแต่ละตัวมีน้ำเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองสมกับลักษณะนิสัยของตัวละคร ตัวละครที่เคร่งขรึมก็จะมีน้ำเสียงที่เยือกเย็นสุขุม ตัวละครแนวเฮฮาน้ำเสียงก็มีชีวิตชีวาตลอดเวลา แต่ทุกคนเวลาระเบิดอารมณ์แสดงถึงจิตใจเบื้องลึกของตัวเองและปลุกพลัง Persona นั้นก็ทำออกมาได้ดีกันทุกรายเลยทีเดียว

แต่สิ่งที่ต้องชมยิ่งกว่าเสียงพากย์ก็คือบทเพลงประกอบของเกม ฝีมือของโชจิ เมกุโระนั้นยังคงยอดเยี่ยมเช่นเคย บทเพลงในตอนสู้อย่าง Last Surprise นั้นติดหูและไพเราะเกินคาด แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏบนจอจะเป็นการต่อสู้ระหว่างเราและ Shadow ทว่าเสียงที่ออกจากทีวีเป็นเพลงแนว Acid Jazz ก็ให้ผลลัพธ์ที่เข้ากันอย่างไม่น่าเชื่อ หรือจะเป็นเนื้อหาตอนที่เพื่อนในทีมของเราปลุกพลัง Persona ขึ้นมาแล้วเข้าต่อกรกับบอสโดยที่เพลงประกอบเปลี่ยนไปเป็น Friend Awakening Battle แทนนั้นก็ทำให้ผู้เล่นรู้สึกได้ถึงจิตใจที่พุ่งพล่านพร้อมเข้าชนทุกปัญหาได้ดีเยี่ยมเลยทีเดียว หากจะบอกว่าเพลงประกอบคือหนึ่งในสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเกมนี้ก็ไม่ใช่สิ่งเกินเลยแน่นอน


สรุป

Persona 5 คือเกม JRPG ชิ้นเอกเกมหนึ่งในตอนนี้ การดำเนินเรื่อง เพลงประกอบ สไตล์ของงานภาพ ระบบเกม ล้วนแล้วแต่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยม สนุกและลงตัว หากคุณต้องการเกมที่บอกเล่าเรื่องราวการดิ้นรนใช้ชีวิตของเหล่าเด็กมัธยมปลายผู้ไม่มีสถานที่ที่ตนจะเรียกได้ว่าเป็นที่ที่ตนควรอยู่และต้องการพิสูจน์คุณค่าของตนเองให้สังคมได้รับรู้ คุณควรเล่นเกมนี้ แต่ถ้าหากคุณต้องการเกม JRPG ที่ยอดเยี่ยมไปเล่นก็ควรเล่นเกมนี้เช่นกัน แต่ผมเชื่อว่าเนื้อหาและประเด็นที่เกมสื่อออกมาจะต้องมีแง่มุมบางอย่างที่ใกล้เคียงกับชีวิตของผู้เล่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจนเราสามารถอินและเอาใจช่วยเหล่าตัวละครในเรื่องอย่างแน่นอน

นอกจากแง่มุมของการใช้ชีวิตสองสถานะของเหล่าตัวละครในเกมแล้ว การเจริญเติบโตด้านจิตใจของแต่ละคนก็ถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชวนให้ผู้เล่นติดตามจนแทบไม่อยากวางจอย คุณจะได้เห็นแง่มุมการพัฒนาจิตใจของทุกคนในเรื่องผ่านสายสัมพันธ์ที่มีระหว่างกัน ผมคิดว่าเกมนี้เน้นย้ำให้ตัวผมเข้าใจอย่างหนึ่งนั่นคือ หากเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตใครแล้วชีวิตของคนนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในทางกลับกันชีวิตของเราก็ย่อมเปลี่ยนไปได้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเช่นเดียวกัน อุปสรรคบางอย่างเราอาจไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพังแต่หากได้ความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้างสิ่งที่มันยากก็อาจกลับกลายเป็นง่ายหรือทุเลาเบาบางลงได้อย่างไม่ต้องสงสัย

คะแนน 5 ⁄ 5

 

ที่มา http://www.thaigamewiki.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน