ย้อนวันวาน คอลัมน์ “รู้ไปโม้ด” ฉบับ วันที่ 5 ม.ค.2555

ถึงน้าชาติ อยากทราบว่า คาร์บอนฟุตพรินต์ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรครับ

จาก บอล

ตอบ บอล

คาร์บอน ฟุตพรินต์ คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนกระทั่งถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

หนึ่งในสาเหตุของปัญหาโลกร้อน มาจากปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งทั่วโลก ได้พยายามแก้ปัญหาโดยรณรงค์ให้มีการแสดงข้อมูล ‘คาร์บอนฟุตพรินต์’ (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์ ด้วย ‘ฉลากคาร์บอน’ (Carbon Label) เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม1
เพราะเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่ติดบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ตั้งแต่กระบวนการหาวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดเมื่อกลายเป็นของเสีย ซึ่งจะสร้างความตระหนักและสร้างการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดปัญหาโลกร้อน

การวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพรินต์ ใช้การประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment : LCA) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการประเมินศักยภาพการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change Potential) ที่เป็นผลมาจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ โดยตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์และบริการ แสดงผลในเชิงปริมาณ คือ เทียบเท่ากับศักยภาพการก่อให้เกิดการเปลี่ยน แปลงสภาพอากาศของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นกิโลกรัม (kg CO2 equivalent)

การแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ นอกจากจะสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้ภาคการผลิตหาแนวทางการจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เป็นแนวทางพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Society) ที่หลายประเทศกำหนดไว้ในนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

จากการริเริ่มใช้คาร์บอนฟุตพรินต์ครั้งแรกในอังกฤษ ในเดือนมีนาคม 2550 โดย ‘คาร์บอนทรัสต์’ (Carbon Trust) องค์กรเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐ ปัจจุบันคาร์บอนฟุตพรินต์และฉลากคาร์บอนมีการพัฒนาและแพร่หลายแล้วในหลายประเทศ

ในฝรั่งเศส มีนโยบายให้มีการแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์เป็นข้อบังคับทางกฎหมายสำหรับสินค้าทุกประเภทภายในปี 2554 ส่วนในแถบเอเชีย รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศนโยบายพัฒนาประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยใช้คาร์บอนฟุตพรินต์และการติดฉลากคาร์บอนเป็นกลไกขับเคลื่อน

ส่วนในประเทศไทย การพัฒนาฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Reduction Label) ดำเนินงานโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์แล้ว 151 รายการ เช่น น้ำตาล ผงพลาสติกพีวีซี น้ำกะทิ น้ำนมถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์กลุ่มเฌอร่าบอร์ด ปูนซีเมนต์ เซรามิก ก๊อกน้ำ หลอดไฟ เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน