คอลัมน์ ข่าวสดสุขภาพ

รายงานพิเศษ

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ “เอแอลเอส” มีอาการเตือนกล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบเล็กลงเรื่อยๆ พูดลำบาก กลืนลำบาก หายใจติดขัดและหอบเหนื่อยจากการหายใจไม่เพียงพอ

หากพบสัญญาณเตือนดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยรักษาให้เร็วที่สุด

เกี่ยวกับโรคนี้ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) จัดเป็นโรคที่พบมากที่สุดในกลุ่มโรคเสื่อมของเซลล์ควบคุมกล้ามเนื้อ ทั้งในส่วนของสมอง และไขสันหลัง

โดยมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรงและลีบเล็กลงเรื่อยๆ บริเวณ มือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน และจะค่อยๆ เป็นมากขึ้น จนลามไปทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งหรือกล้ามเนื้อกระตุก

ต่อมาจะมีอาการพูดลำบาก กลืนลำบาก หายใจติดขัดและหอบเหนื่อยจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง จนกระทั่งเสียชีวิต

ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 จะพบอาการเริ่มแรกที่แขน ขา ข้างใดข้างหนึ่งก่อน ร้อยละ 25 ผู้ป่วยที่แสดงอาการครั้งแรกด้วยการกลืนหรือพูดลำบาก

สำหรับสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วยเกิดจากพันธุกรรม โรคนี้มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนใหญ่เกิดในช่วงอายุ 40-60 ปี

วิธีการสังเกตอาการโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คือ อาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ แขน หรือ ขา หรือมีอาการกลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน ร่วมกับอาการกล้ามเนื้อลีบและกล้ามเนื้อเต้นกระตุก โดยอาการอ่อนแรงจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบ แพทย์ในทันทีเพื่อจะได้วินิจฉัยรักษา โดยแพทย์อายุรกรรมสาขาประสาทวิทยาที่มีประสบการณ์ จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม โดยการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยคลื่นไฟฟ้า

ทั้งนี้ การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ส่วนยาในปัจจุบันที่มีการยอมรับในวงการแพทย์ช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้มีเพียงยา Riluzole โดยมีฤทธิ์ในการยับยั้งสาร กลูตาเมต ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดการตายของเซลล์

นอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว การให้กำลังใจกับผู้ป่วยไม่ให้เกิดการท้อแท้และ ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้ง ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจกรรมและทำกายภาพบำบัดกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแรง เพื่อป้องกันการลีบที่เกิดจากภาวะที่กล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานนานๆ และป้องกันการติดของข้อ การกินอาหารและพักผ่อนให้เพียงพอ

ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีปัญหานอนราบไม่ได้ หรือเหนื่อย เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลมอ่อนแรง การใช้เครื่องช่วยหายใจชนิดไม่ใส่ท่อช่วยหายใจที่บ้านจะทำให้ผู้ป่วยนอนได้ไม่เหนื่อย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีต้องดูแลสุขภาพ ให้ดีด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน