นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

คอลัมน์ สดจากเยาวชน

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์ – ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่น นกกระเรียนเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี ความหวัง และการมีอายุยืนยาว คนญี่ปุ่นโบราณเชื่อว่านกกระเรียนเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ที่มีชีวิตได้ถึงพันปี ถ้าพับนกกระเรียนกระดาษได้ 1,000 ตัว จะบรรลุความปรารถนาที่หวังได้

เด็กหญิงซาซากิ ซาดาโกะ อาศัยอยู่ในเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เธอต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วยจากพิษร้ายของสงครามนิวเคลียร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอจึงตั้งใจพับนกกระเรียนให้ครบ 1,000 ตัวด้วยความหวังว่าตัวเองจะหายจากโรคร้าย

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

ภาพถ่ายครอบครัวครูคุ้ม เอี่ยมศิริ

แต่ความหวังของเธอก็โบยบินหายไปเมื่อเธอเสียชีวิตและพับนกได้ 664 ตัว เพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนจึงช่วยกันพับให้ครบพันตัวแล้วใส่ในโลงศพของเธอ ตำนานการพับนกของเด็กหญิงตัวเล็กทำให้นกกระเรียนกลายเป็นสัญลักษณ์แทนสันติภาพและมิตรภาพของมวลมนุษย์

ในประเทศไทยเองก็มีเรื่องราวของนกกระเรียนที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้…

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

ส่องนกกระเรียนกับพี่เติ้ล

“แกร๋ๆ แกร๋ๆ” เสียงร้องของนกน้ำขนาดใหญ่ขานรับกันไปมาในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ชุ่มน้ำเนื้อที่กว่า 3 พันไร่ แหล่งที่อยู่แหล่งอาหารของนกกระเรียนพันธุ์ไทยนับร้อย สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และสายใยความเชื่อมโยงระหว่างนก คน และระบบนิเวศ

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

เฝ้า สังเกต

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก

“ช่วงเช้าหรือช่วงเย็นถ้าโชคดีก็จะได้เห็นนกกระเรียนค่ะ หนูเคยเห็นนกกระเรียนกำลังหาอาหาร กางปีก บางครั้งนกกระเรียนก็เต้นด้วยค่ะ” เนย เด็กหญิงจารุวรรณ โปสี บอกเล่าถึงท่วงท่านกกระเรียนด้วยน้ำเสียงร่าเริง

เด็กชายโฟร์ ปณารินทร์ อาภรรัมย์ ช่วยเพื่อนเล่าเสริม “เราจะเห็นนกกระเรียนเป็นคู่ครับ ส่วนมากจะเห็น 2 ตัวขึ้นไป สูงประมาณ 150-180 เซนติเมตร หัวสีแดง ตัวสีเทา ร้องเสียงแหลมๆ เวลาเห็นนกกระเรียนก็ดีใจครับ เพราะนกกระเรียนเคยสูญพันธุ์ไปแล้ว”

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

น้องโฟร์ น้องเนย

น้องเนย น้องโฟร์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านหนองมะเขือ ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ไม่ไกลกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก นับเป็นเรื่องดีของเด็กๆ ที่มีโอกาสมาเฝ้ามอง ส่องหา และทำความรู้จักนกกระเรียนพันธุ์ไทย ตำนานที่หวนคืนถิ่นกลับมาโบยบินสู่ธรรมชาติอีกครั้ง

ปี 2475 ปรากฏหลักฐานภาพถ่าย ครอบครัว ครูคุ้ม เอี่ยมศิริ ชาวบ้าน อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ พร้อมนกกระเรียนที่เลี้ยงไว้ เป็นหลักฐานสำคัญว่าเคยมีนกกระเรียนอยู่มากมายใน จ.บุรีรัมย์ แต่ประสบปัญหา นกกระเรียนค่อยๆ ลดจำนวนลง และสูญหายไปในที่สุด

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

นกกระเรียนพันธุ์ไทย

และในปี 2532 สวนสัตว์นครราชสีมาได้รับบริจาคนกกระเรียนจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เขตพื้นที่สุรินทร์-บุรีรัมย์ประมาณ 20 ตัว การอนุรักษ์นกกระเรียนจึงเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่นั้นมา การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยประสบผลสำเร็จ

นกกระเรียนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในกรงได้ตลอดไป จึงเป็นที่มาของ “โครงการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติ” เริ่มต้นเมื่อปี 2551 และเลือกพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน จ.บุรีรัมย์ เป็นพื้นที่นำร่องในการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

หัวสีแดง ตัวสีเทา

“เราเริ่มปล่อยนกกระเรียนตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มี 118 ตัว นกกระเรียนมักมาอาศัยที่อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากมากที่สุด เพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์มาก มีสัตว์น้ำ แมลง นกและพืชต่างๆ ปลาตัวเล็กกินพืชน้ำปลาใหญ่กินปลาเล็ก นกก็มากินปลา เกิดห่วงโซ่อาหาร พื้นที่ชุ่มน้ำจึงถือเป็นแหล่งอาศัย และแหล่งอาหารสำหรับนกกระเรียนได้ตลอดทั้งปี”

เติ้ล ณัฐวัฒน์ แปวกระโทก เจ้าหน้าที่องค์การสวนสัตว์ ผู้รับผิดชอบศูนย์เรียนรู้การอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำและนกกระเรียนพันธุ์ไทย บอกเล่าแก่เด็กๆ ช่างสงสัยที่คณะครูโรงเรียนบ้านหนองมะเขือพามาทำกิจกรรมดูนกกระเรียนเป็นประจำทุกวันพุธ

นกกระเรียนไทย หวนคืนถิ่นบุรีรัมย์

ปั่นจักรยานไปดูนกกระเรียน

“นกกระเรียนเคยสูญพันธุ์ไปแล้ว ตอนนี้กลับมาอยู่ในธรรมชาติบ้านเรา ต้องช่วยกันรักษาไม่ให้นกกระเรียนสูญพันธุ์ไปอีกค่ะ อย่างการทำนาอินทรีย์ สารเคมีจะไม่กระจายไปสู่นกกระเรียน” น้องเนยกล่าวทิ้งท้าย

นกกระเรียนพันธุ์ไทยไม่เพียงแต่ได้รับการอนุรักษ์เท่านั้น ยังมอบความสุขและบทเรียนแสนสนุกให้เด็กๆ ในชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านได้กินอาหารปลอดภัยและมีรายได้จากความตั้งใจดีที่ร่วมกันทำ เด็กๆ ลูกหลานก็ได้ซึมซับความรักและหวงแหน ใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติ

ติดตามเรื่องราวของเด็กบุรีรัมย์กับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยในทุ่งแสงตะวัน ตอนการกลับมาของนกกระเรียน เช้าวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 05.05 น. ทางช่อง 3 กด 33 ติดตามข่าวสารรายการได้ทาง Facebook ทุ่งแสงตะวัน

ณัฐริยา โสสีทา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน