ยุวชนอาสาโชว์ผลงาน‘บ้านห้วยสำราญ’ พัฒนาสู่เกษตรปลอดภัยคู่การท่องเที่ยว : รายงานพิเศษ

จัดงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ไปแล้วสำหรับโครงการยุวชนสร้างชาติ โดยนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) มีผู้บริหารของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ มาร่วมงานกันอย่างคึกคัก ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)อุดรธานี พร้อมฟังนโยบายจากเจ้ากระทรวงในหัวข้อ“บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโครงการยุวชนสร้างชาติที่แตกย่อยเป็น 3 โครงการ

ประกอบด้วย1.โครงการยุวชนอาสา : สำหรับนักศึกษาชั้นปี 3-4 กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ (วิทย์-สังคม) เรียนรู้และพักอาศัยในชุมชน 1 ภาคเรียน 2.โครงการบัณฑิตอาสา : สำหรับบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 3 ปี กลุ่มละ 8-10 คนแบบคละศาสตร์ พักอาศัยและทำโครงการในชุมชน 1ปี และ 3.โครงการกองทุนยุวสตาร์ตอัพ

รายงานพิเศษ

ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล (ที่ 5 จากขวา) และบรรดาเกษตรกร

นายสุวิทย์ย้ำว่า บัณฑิตอาสาเหล่านี้จะเป็นพลังในการเพิ่มศักยภาพของชุมชนทั่วประเทศ โดยใช้ความรู้ที่มีในหลากหลายศาสตร์ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นพี่เลี้ยงให้ ในรูปแบบพหุภาคีหรือจตุภาคี ทั้งนี้จะขับเคลื่อนให้เป็นอีสาน4.0 ด้วยพลังของคนอีสานเอง ภายใต้นโยบายของรัฐบาลนั่นคือ “BCG Economic Model”

หลังจากนั้นนายสุวิทย์และทีมงาน ลงพื้นที่นำร่องบ้านห้วยสำราญต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกไม้ดอกใหญ่สุดในภาคอีสาน ภายใต้กิจกรรม “ยกระดับเกษตรพื้นบ้าน สู่เกษตรปลอดสาร มาตรฐาน GAP” โดยนักศึกษาของมรภ.อุดรธานีเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนก่อนหน้านี้แล้ว พร้อมสะท้อนปัญหาอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาให้ผู้บริหารอว.ฟัง

รายงานพิเศษ

เริ่มจากนายธีระศักดิ์ พิมใจ นักศึกษาปี 4 สาขาวิขาการพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.อุดรธานี ระบุว่า แหล่งปลูกดอกไม้บ้านห้วยสำราญเป็นจุดท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของอุดรธานี จึงต้องพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการทำเกษตรแบบปลอดภัย ซึ่งต้องพัฒนาในหลายด้าน อาทิ ปรับปรุง ภูมิทัศน์ ปรับปรุงห้องน้ำ จัดระเบียบการจอดรถ และปรับรูปแบบการปลูกเพื่อให้สอดรับ กับเทศกาลต่างๆ อย่างเช่น ทำเป็นรูปหัวใจในวันวาเลนไทน์ และจะต้องลดต้นทุนในการปลูกดอกไม้ อาจใช้วิธีการเพาะเนื้อเยื่อและทำปุ๋ยใช้เอง

รวมทั้งเสนอปรับระบบการรดน้ำต้นไม้ที่ใช้สปริงเกอร์ เป็นระบบน้ำหยดแทน เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำแล้ว ยังทำให้น้ำไม่เฉอะแฉะเวลานักท่องเที่ยวเดินชมแปลง และจะต้องหาปุ๋ยชนิดอื่นมาทดแทนปุ๋ยขี้ไก่ที่เกษตรกรใช้อยู่เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดแมลงหวี่-แมลงวัน อันเป็นการสร้างความรำคาญและรบกวนนักท่องเที่ยว

รายงานพิเศษ

นายสุวิทย์กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมบ้านห้วยสำราญว่า นักศึกษาที่มาร่วมโครงการยุวชนอาสาในครั้งนี้มาจากหลากหลายคณะวิชา ซึ่งการทำงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายBCG ชี้ให้เห็นว่าเป็นการดำเนินงานที่มาถูกทางแล้ว โดยนักศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมาช่วยชุมชนแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเกษตร ปัญหาการตลาด และปัญหาการท่องเที่ยว ที่นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อน ฯลฯ เชื่อว่าไม่เกิน5-10ปี อีสานจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค4.0แน่นอน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ศาสตราจารย์(ศ.)ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดอว. พร้อมด้วย น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) และนายอภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) เยี่ยมชมโครงการ “ยกระดับเกษตรกรอำเภอกระนวนสู่สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน ต.หนองโก อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ซึ่งเน้นปลูกผักปลอดสารพิษ

รายงานพิเศษ

เบญจทิพย์ เกิดบ้านชัน และปาริชาติ กินรี กับระบบสมาร์ทฟาร์ม

ศ.ศุภชัยบอกว่า สอว.ได้สนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ผ่านกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ มข. ภายใต้โครงการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน (Industrial Research and Technology Capacity Development Program หรือ IRTC) ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียกระดับการผลิตและการแปรรูปให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนี้ โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำระบบสมาร์ทฟาร์ม คือ นางปาริชาติ กินรี อาจารย์คณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม หัวหน้าโครงการ และนางอังคณา เจริญมี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มาพัฒนาระบบสมาร์ทฟาร์ม

นางปาริชาติให้ข้อมูลว่า จากการลงพื้นที่วิเคราะห์โจทย์ของชุมชน จึงได้ทำบอร์ดแสดงผลและควบคุมการทำงานด้วยจอLED หรือ ผ่านระบบ IOT รวมทั้งระบบการบริหารจัดการฟาร์ม ได้แก่ การตัดน้ำอัตโนมัติ การวัดความเข้มแสง การวัดค่า อุณหภูมิ อากาศ น้ำ ดิน และการวัดค่าความชื้นในดิน สามารถทำงานได้แบบเรียลไทม์(real time) มีการส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต และเก็บข้อมูลไว้ในเซิฟเวอร์ ทั้งสามารถเข้าไปดูข้อมูลผ่านลิงค์ได้เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ และระบบสมาร์ทฟาร์มยังสามารถดูข้อมูลต่างๆ ผ่านแอพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตได้ด้วย

“สมาชิกที่จะใช้ระบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สูงอะไร จะมีการอบรมให้ ที่สำคัญต้องมีใจก่อน ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายเริ่มต้นลงทุนหลักหมื่น ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่และปัจจัยอื่นๆด้วย แต่หากเลือกปลูกพืชผลไม้ที่มีราคาอย่างพวกผักสลัด จะสามารถคืนทุนได้ ในเวลาไม่เกิน 6 เดือน แต่เกษตรกรจะได้ผลประโยชน์หลายอย่าง ที่ชัดเจนเลยคือไม่เสียเวลาและประหยัดแรงงาน”

ด้านนางเบญจทิพย์ เกิดบ้านชัน เจ้าของไร่เบญจทิพย์ สมาชิกคนหนึ่งของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรวิถีอินทรีย์กระนวน เล่าว่า ก่อนหน้านี้กลัวการนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่พออบรมเสร็จเมื่อมาใช้งานจริงทีมงานอาจารย์ปาริชาติคอยช่วยแก้ปัญหาให้ตลอด ซึ่งหลังจากปลูกแบบอินทรีย์และใช้ระบบสมาร์ทฟาร์ม ใช้เวลารดน้ำไม่ถึงครึ่งชั่วโมง จากที่เคยต้องรดน้ำวันหนึ่งหลายชั่วโมง อีกทั้งขายพืชผักผลไม้ได้ในราคาที่สูงขึ้น และมีลูกค้าเป็นอีกระดับหนึ่ง เป็นพวกร้านอาหารญี่ปุ่นในจ.ขอนแก่น และบรรดาโรงพยาบาล เนื่องจากผักมีคุณภาพดีและได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ทั้งนี้จะขยายพื้นที่การปลูกในระบบสมาร์ทฟาร์มอีก เพราะมีตลาดรองรับแน่นอน

นับเป็นอีกโครงการหนึ่งของอว.ที่นำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีลงสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่าเกษตรกรดีขึ้น

โดย ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน