รู้ไปโม้ด

น้าชาติประชาชื่น [email protected]

แจ่มใสถามมาว่าด้วยเรื่องแสงแดด และโทษกับประโยชน์รังสี UV ที่มีต่อผิว

คำตอบนำมาจากข้อเขียนของ รศ.พญ.ณัฏฐา รัชตะนาวิน หัวหน้าหน่วยโรคผิวหนัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งวันนี้จะแจกแจงถึงฤทธิ์ของรังสียูวีทั้ง 3 ชนิด คือ รังสียูวีเอ (UVA) รังสียูวีบี (UVB) และ รังสียูวีซี (UVC)

รังสียูวีเอ คือรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีคลื่นยาวกว่ารังสียูวีบี และยูวีซี (ยูวีเอมีความยาวคลื่น 320-400 นาโนมิเตอร์) ที่สามารถทะลุไปถึงชั้นผิวหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้ได้ แม้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับผิวหนังเมื่อสัมผัสกับรังสียูวีเอจะเห็นได้ไม่ชัดเจน และไม่รู้สึกเจ็บเมื่อได้รับรังสี

แต่ผลในระยะยาวเชื่อกันว่าหากได้รับรังสียูวีเอมากๆ จะทำให้เกิดอนุมูลอิสระในผิวหนัง ซึ่งจะทำลายความยืดหยุ่นของเซลล์ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยก่อนวัย สีผิวคล้ำเข้ม ขาดความสดใส

รังสียูวีบี คือรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นรองลงมา (ความยาวคลื่น 290-300 นาโนมิเตอร์) รังสียูวีบีจะถูกกั้นโดยชั้นบรรยากาศบางส่วน และลงมาถึงผิวโลกประมาณร้อยละ 0.1 ของแสงทั้งหมด รังสียูวีบีแม้จะไม่สามารถทะลุสู่ชั้นผิวหนังที่ลึกได้เท่ากับรังสียูวีเอ แต่ก็มีผลทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้น เกิดอาการแสบร้อน แดง และไหม้เกรียม (ภายใน 24 ชั่วโมงที่โดนแสงแดดจัดนานๆ)

ทั้งรังสียูวีเอและรังสียูวีบีทำให้ผิว หนังเหี่ยวย่นและก่อโรคมะเร็งผิว หนังได้พอกันทั้ง 2 ชนิด

รังสียูวีบีจะมีความแรงสูงสุดในช่วงเวลากลางวัน คือตั้งแต่ 10.00-14.00 น. แต่เดิมผู้เชี่ยวชาญทางผิวหนังเชื่อว่าเฉพาะรังสียูวีบีเท่านั้นที่ทำให้ผิวเกิดการไหม้ แต่ปัจจุบันพบว่ารังสียูวีเอที่ทำให้ผิวคล้ำเมื่อถูกแสงแดดก็เป็นอันตรายต่อผิวเช่นเดียวกัน ทั้งยังมีหลักฐานแสดงว่ารังสีช่วงคลื่นยาวคือรังสีอินฟราเรดก็เป็นอันตรายต่อผิวหนังด้วย

ส่วนรังสียูวีซี เป็นรังสีที่มีคลื่นสั้นที่สุด ในอดีตเคยถูกกรองไว้ได้ทั้งหมดโดยชั้นโอโซน จึงไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศของโลกลงมาได้ แต่สำหรับโลกปัจจุบัน พบว่ารังสียูวีซีทะลุชั้นโอโซนมายังพื้นโลกได้มากขึ้น เป็นผลมาจากมลพิษที่มนุษย์ก่อขึ้นจนไปทำลายชั้นโอโซนให้บางลง

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวันที่มีเมฆหมอก ท้องฟ้าขมุกขมัว เวลาฝนตกหรือหน้าหนาว ไม่น่าจะเกิดอันตรายจากแสงแดด แต่ความจริงแล้ว แม้วันที่มีเมฆหมอก ไม่มีแดด แต่หากมีแสงสว่างพอที่จะอ่านหนังสือได้ แสงยูวีก็สามารถส่องผ่านมาได้

หรือวันลมพัดแรงที่ผิวหนังอาจได้รับผลเสียจากแสงแดดและเกิดผิวไหม้ได้มากกว่าปกติ เพราะลมที่พัดแรงจะทำให้รู้สึกเย็นสบาย หลายคนจึงอาจเผลออยู่กลางแจ้งนานโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือการอยู่ในที่สูง เช่น บนภูเขา ก็ทำให้ผิวมีโอกาสได้รับอันตรายจากแสงแดดมากกว่าปกติ เพราะพื้นที่สูงมีชั้นบรรยากาศที่ดูดซับรังสีที่เป็นอันตรายจากแสงแดดน้อยกว่าที่ระดับน้ำทะเล

นับตั้งแต่วันที่มนุษย์ค้นพบว่าชั้นบรรยากาศของโลกปรากฏช่องโหว่ทะลุจนแสงร้อนแรงสามารถแผ่รังสีมาทำร้ายผิวจนถึงขั้นเป็นมะเร็งผิวหนังได้ในที่สุด วงการแพทย์ได้คิดค้นหาสารที่จะช่วยเป็นเกราะป้องกันรังสีความร้อนในรูปแบบครีมกันแดดขึ้น เพื่อลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผิวหนัง

ดังนั้นการใช้ครีมกันแดดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นในการปกป้องผิวให้ปลอดภัยจากการรุกล้ำทำลายของแสงแดดที่นับวันจะมีพิษสงรุนแรงเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน