พบกาแล็กซีรูปร่างโดนัท ช่วยไขปริศนาจุดกำเนิดทางช้างเผือก

พบกาแล็กซีรูปร่างโดนัท – วันที่ 26 พ.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบกาแล็กซีที่มีรูปร่างลักษณะเป็นวงแหวนไฟแต่มีช่องโหว่ตรงกลางขนาดใหญ่ หากมองไกลๆ จะแลดูเหมือนโดนัท โดยเชื่อว่าจะช่วยให้นักวิทย์เข้าใจกระบวนการเกิดกาแล็กซีมากขึ้น

การค้นพบดังกล่าวเป็นผลงานของคณะรักดาราศาสตร์จากศูนย์เออาร์ซีเพื่อความเป็นเลิศด้านท้องฟ้าและดาราศาสตร์ 3 มิติ (ASTRO 3D) พบกาแล็กซีรูปร่างประหลาดนี้อยู่ห่างไปจากโลกราว 1.1 หมื่นล้านปีแสง

นายเทียนเทียน หยวน หัวหน้าคณะนักวิจัย กล่าวว่า ไม่เคยเห็นกาแล็กซีรูปร่างแปลกประหลาดแบบนี้มาก่อน โดยกาแล็กซีนี้ได้รับชื่อรหัสว่า R5519 ช่องโหว่ตรงกลางนั้นมาระยะทางมากกว่าโลกถึงดวงอาทิตย์ประมาณ 2 พันล้านเท่า

“กาแล็กซีนี้มีอัตราการเกิดของดาวดวงใหม่มากกว่าทางช้างเผือกประมาณ 50 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ที่บริเวณวงแหวนของกาแล็กซี น่าจะเรียกว่า วงแหวนไฟได้เลยล่ะครับ” เทียนเทียน ระบุ

รายงานระบุว่า นายเทียนเทียน และคณะนักวิจัยอยู่ระหว่างศึกษาการเกิดใหม่ของกาแล็กซี โดย R5519 น่าจะเป็นกาแล้กซีแรกที่เกิดจากการรวมตัวกันของกาแล็กซี 2 แห่ง แต่ภาพที่เห็นนั้นถือว่าเป็นสภาพเมื่อ 1.1 หมื่นล้านปีก่อน เนื่องจากแสงเพิ่งเดินทางมาถึง

นายเค็นเนธ ฟรีแมน ผู้วิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า การค้นพบนี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกระบวนการเกิดขึ้นของทางช้างเผือกมากขึ้น

ฟรีแมน ระบุว่า กาแล็กซีที่กำลังจะรวมตัวกันจะมีการเกิดขึ้นของแผ่นจานบางๆ รอบกาแล็กซี โดยทางช้างเผือกซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของระบบสุริยะที่มีดาวเคราะห์โลกเป็นสมาชิกนั้นมีแผ่นจานเหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว แต่มีอายุมากถึง 9 พันล้านปี

ขณะที่แผ่นจานบางๆ ที่พบใน R5519 นั้นมีอายุถึง 1.1 หมื่นล้านปี บ่งชี้ว่าการเกิดขึ้นของแผ่นจานซึ่งนำไปสู่การรวมตัวของกาแล็กซีนั้นใช้เวลาที่นานกว่าที่คาดไว้มาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน