เยือนจุดเกิดเหตุการทูตไทย – เปิดร่องรอยจุดเริ่มต้นการทูตไทยใน แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กระทรวงการต่างประเทศนำคณะ นักการทูตไทยที่จังหวัดลพบุรี เที่ยวย้อน ดูประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมือง ที่เกี่ยวข้องกับฝรั่ง

รศ.ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี วิทยากรจาก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มด้วยคำถามว่า ฝรั่งเข้ามาในบ้านเมืองเราสมัยไหน

ในปี 1511 หรือปีพ.ศ.2054 จุดเริ่มต้นแรกโปรตุเกสเข้ามาสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ตามด้วยสเปน ฮอลันดาและอังกฤษ หรือราวช่วง 150 ปีแรกของอยุธยา ที่มีบ้านหรือค่ายของชาวต่างชาติ มีโบสถ์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งสมัยอยุธยาใช้โบสถ์ของโปรตุเกสเป็นหลัก

โปรตุเกสเน้นการศาสนาและวัฒนธรรม แต่งงานกับคนพื้นเมืองเพื่อให้กำเนิดลูกครึ่งมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ใช้ลูกครึ่งเป็นกำลังสร้างสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างอยุธยาและโปรตุเกส

สเปนเน้นศาสนา ประกอบศาสนกิจอย่างเดียว ยังไม่มีบทบาทกับลพบุรี แต่เริ่มกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ มองเห็นว่าของป่าของอยุธยาอุดมสมบูรณ์ นำมาสู่การแสวงหาผลประโยชน์ต่อไป

กระทั่งการเข้ามาของฝรั่งเศสคือจุดเปลี่ยน

“การเข้ามาของชาติที่ 5 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญ ลบภาพ 4 ชาติแรกไปเลย มีการทูต การเมือง เราเริ่มเห็นนโยบายของตะวันตกที่ชัดเจนยิ่งขึ้นที่ชาติตะวันตกใช้มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 อาทิ การเรียกร้องขอดินแดนฝั่งซ้าย แม่น้ำโขงของฝรั่งเศส มีเบื้องหลังทุกอย่าง” อาจารย์ปรีดีกล่าว

เปิดประตูวังนารายณ์เห็นประตูโค้งแหลม อิทธิพลเปอร์เซีย ทางเดินทอดยาวสู่พระที่นั่งจันทรพิศาล เสด็จออกขุนนาง ตรัสถามรับทูต 3 นัด 1) เดินทางมาลำบากหรือไม่ 2) บ้านเมืองฝนตกตามฤดูกาลหรือไม่ 3) อยู่ที่นี่สุขสบายดีหรือไม่ โดยการฟังทูตไม่ยาวมาก แต่ที่นานเพราะต้องถ่ายทอดเป็นทอดๆ ผ่านวังหน้า เสนาบดีและล่าม การกระทำดังกล่าวหมดไปสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษเอง

ทริปนี้ยังได้ชมพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท สถานที่ออกรับแขกเมืองที่คนมักเข้าใจผิดว่า เดอโชมอง ทูตฝรั่งเศสถวายพระราชสาส์นที่ลพบุรี แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เนื่องจากการถวายพระราชสาส์นของทูตต้องกระทำที่วังหลวง พระที่นั่งศรีสรรเพชญ์มหาปราสาทที่อยุธยาเท่านั้น

การถวายพระราชสาส์นของเดอโชมองแด่สมเด็จพระนารายณ์ที่พระตำหนักพระศรีสรรเพชญ์มหาปราสาทที่กรุงศรีอยุธยา เป็นจุดหักเหของการทูตไทย เป็นจุดรับทูตแบบใหม่ที่เป็นแบบ ตะวันตกครั้งแรกที่เกิดขึ้นสมัยอยุธยา กระทั่งในประวัติศาสตร์การทูตไทย ก่อนหน้านี้เป็นแบบจารีตทั้งหมดในลักษณะการอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นเมืองที่แพ้ศึกสงครามมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารถูกกวาดต้อนเข้ามา

“กล่าวคือ เริ่มการทูตเป็นเรื่องเป็นราว แสดงให้เห็นว่า ฝรั่งมีความคิดที่เปลี่ยนไปที่เกี่ยวกับการยอมรับอำนาจของสยาม” ดร.ปรีดีกล่าว

ดร.ปรีดีกล่าวว่า คณะราชทูตของโกษาปานไม่ใช่คณะแรก ที่ถูกส่งไปต่างประเทศ ก่อนหน้าคณะของโกษาปานราว 80 ปี สมเด็จพระเอกาทศรถส่งคณะทูตจากอยุธยา เป็นการส่งคณะทูตครั้งแรกของอยุธยา ส่งไป 2 นายไปเฝ้ากษัตริย์มอริส ที่กรุงเฮกไปกับเรือสินค้าของฮอลันดา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าขณะพระเจ้ามอริสกำลังส่องกล้องทางไกลให้ทูตทั้งสองทดลองส่องกล้องทางไกล ดังปรากฏในบันทึกของฝรั่งเศสแต่คณะโกษาปาน ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแง่การทูตทำให้คุ้นชื่อกันมาก แต่เริ่มมีการเมือง เพราะมีเงื่อนไขว่าต้องการครอบครองเมืองบางเมืองของอยุธยา

ความพิเศษของพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ ธัญญมหาปราสาทใช้ความเป็นเปอร์เซียซุ้มประตูโค้งแหลม แต่มีความเป็นตะวันตก สังเกตจากรอยเจาะรูที่ผนังจากการประดับกระจกที่สั่งมาจากกรุงปารีสเพื่อให้ เหมือนกับการรับทูตของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ที่ท้องพระโรงกระจกที่พระราชวัง แวร์ซายส์

การเดินทางมากรุงศรีอยุธยาของ เดอโชมอง ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ ได้แต่งตั้งทูตออกเดินทางไปพร้อมกับ เดอโชมองด้วยนั่นคือคณะของโกษาปานหรือออกพระวิสุทสุนทร เป็นทูต 1 สำรับประกอบด้วยราชทูตอุปทูต ตรีทูต รวมเรียกราชทูต ดร.ปรีดีเล่าเกร็ดการทูตว่า โกษาปานไปฝรั่งเศสเป็นงานแรก โดยมี ออกหลวงกัลยาที่มีอายุกว่า 60 ปี ทำหน้าที่พี่เลี้ยง ยึดถือประสบการณ์ที่เคยไปอาณาจักรโมกุล จีน เพื่อช่วยราชทูต

คณะทูตของโกษาปานเทียบท่าที่เมือง แบรตส์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ห่างจาก กรุงปารีสราว 600 เมตร ก่อนเดินทางต่อไปยังกรุงปารีส

เมืองทุกเมืองที่โกษาปานผ่านทำเหรียญ ที่ระลึกครั้งโกษาปานเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 เกิดปรากฏการณ์โกษาปานฟีเวอร์คล้ายอาการคลั่งไคล้โอปป้าเกาหลี ชาวบ้านแห่ดูโกษาปาน อาทิ หน้าตา อาหารที่กิน

การทูตสมัยพระนารายณ์เชื่อมตะวันออกกับตะวันตก ระหว่างที่ทูตเดินทางไปฝรั่งเศสโดยเรือใช้เวลา 6 เดือน ต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โกษาปานเรียนภาษาฝรั่งเศส เรียนรู้ดาราศาสตร์ การทูตทำให้เกิดเส้นรุ้งเส้นแวง เพราะใช้ประโยชน์ในการเดินเรือถึงกัน

ดร.ปรีดีเผยถึงความเป็นนักการทูตของโกษาปานว่า ครั้งไป เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสนาบดีฝรั่งเศสขอเมืองท่ามะริด บางกอก สงขลา โกษาปานตอบว่า ไม่ได้มาที่นี่เพื่อเจรจาการเมืองแต่มาเจริญสัมพันธไมตรี หากจะเจรจาให้ไปอยุธยา ระหว่างกลับอยุธยาโดยที่กองเรือทหารฝรั่งเศส 600 คน 2 ลำ มาต่อท้ายขบวนคณะทูตโดยที่โกษาปานไม่รู้ จนทำให้โกษาปานเอะใจว่าฝรั่งเศสมีนโยบายที่เปลี่ยนไป

ย่างเข้าสู่พื้นที่นานาชาติ เยี่ยมชมบ้านของคอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ รอบๆ บริเวณบ้าน ฟอลคอน ถือได้ว่าเป็นพื้นที่นานาชาติ ตึกแถวในปัจจุบันเคยเป็นที่อยู่ของทูต ประตูกลางของบ้านเปิดไปวัง ประตูด้านตะวันออกเปิดเข้าพื้นที่รับรองทูต

สำหรับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นชาวกรีกหรืออิตาลี เส้นทางชีวิตจากพ่อค้า มีอำนาจมากขึ้นเมื่อเข้าทำงานในระบบราชการ เก่งการค้ากับต่างประเทศจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งว่าที่สมุหนายก (เทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน) คุมพลเรือนทั้งหมด ใช้เวลา 8 ปีก้าวสู่จุดที่สูงที่สุดในชีวิต

บ้านแสดงสถานะของผู้มีอันจะกินที่มีบทบาทสำคัญด้านการต่างประเทศ ออกแบบเป็นอาคารก่ออิฐ 2 ชั้นครึ่ง มีห้องประกอบอาหารนอกบ้าน ถังเก็บน้ำประปา มีห้องเก็บไวน์ที่ห้องใต้ดิน เลี้ยงรับรองเพื่อให้ทูตมีโอกาสลิ้มรสอาหารยุโรป ห้องใต้ดินพบซากขวดไวน์ ตรงกับที่พบหลักฐานว่าฟอลคอนสั่งไวน์เป็นจำนวนมากอีกทั้งภายในบ้านตกแต่งประดับประดาด้วยบ่อน้ำสวยหรูหราแบบเปอร์เซีย เลี้ยงปลา ปลูกต้นไม้ วางเก้าอี้ล้อมรอบบ่อเป็นอาหารตาแก่คณะทูต

ภายในอาณาบริเวณบ้านแบ่งโครงสร้างหลักตามพื้นที่ใช้สอย ตามวัตถุประสงค์ด้านการต่างประเทศ สร้างโบสถ์ในบริเวณบ้าน เพื่อที่คณะทูตานุทูตมาปฏิบัติศาสนกิจที่โบสถ์ รวมถึงมีที่พักรับรองทูตเปรียบเหมือนวิเทศสโมสรที่กระทรวงต่างประเทศ

ฟอลคอนใช้ความสามารถทางภาษาต่างประเทศ เรียนรู้ทั้งภาษากรีก อิตาลี รวมถึงเรียนภาษาสยามและฝรั่งเศสเพิ่ม ทักษะภาษาเหล่านี้ใช้ติดต่อกับต่างประเทศ ประสานกับมิชชันนารี เป็นกะลาสีเรือตัวกลางเชื่อมการค้าตะวันตกตะวันออกนั่นคืออินเดียกับยุโรป ทำให้ราชสำนักสยามได้ผลประโยชน์การค้ามาก ปัจจุบันความสัมพันธ์ยังคงดำเนินเรื่อยมา เช่นเมื่อปี 2529 วาระครบรอบสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต 300 ปี มีการแลกเปลี่ยนต้นไม้ ฝรั่งเศสปลูกมะละกอไทยปลูกต้นมะกอกจากฝรั่งเศสที่ถนนฝรั่งเศส ซึ่งยาว 200 เมตร เสมือนเชื่อมสยาม กับฝรั่งเศส โดยที่เชื่อมกับประตูด้านหนึ่งของวังพระนารายณ์ ราชนิเวศน์กับปลายสุดถนนซึ่งเป็นบ้านของฟอลคอน

เมื่อปี 2562 มีการประดิษฐานรูปปั้นโกษาปานที่ถนนสยาม เมืองแบรตส์ ประเทศฝรั่งเศส เพื่อรำลึกครบรอบ 333 ปีที่ โกษาปานเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14

โดย สุจิตรา ธนะเศวตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน