โหลดด่วน แอพพลิเคชั่น หมอชนะ และ ไทยชนะ หลัง หมอทวีศิลป์ ชี้ ป่วย โควิด เจอไม่มีแอพ ผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปิดวิธีใช้-ดาวน์โหลด

หลังจากที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้แถลงข่าวกรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกระดับมาตรการป้องกันโรค เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) โดยมีเนื้อหาระบุไว้ 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ ยกระดับบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุด และปราบปราม ลงโทษผู้กระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เกิดการระบาดของโรค

โดยหมอทวีศิลป์ ได้ระบุว่า ประชาชนจะต้องติดตั้งและใช้ระบบแอพพลิเคชั่น หมอชนะ ควบคู่กับการใช้แอพพลิเคชั่น ไทยชนะ หากตรวจสอบแล้ว ไม่พบแอพพลิเคชั่น จะถือว่ามีความผิดด้วย ถ้าป่วยแล้วมีไทยชนะถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้าไม่มีถือว่ามีความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยจะต้องใช้ควบคู่กับแอพไทยชนะด้วย

วันนี้ทาง ข่าวสด จะมาแนะนำและวิธีการใช้แอพฯ หมอชนะ และ ไทยชนะ เพื่อให้ทุกท่านปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้นค่ะ

แอพฯหมอชนะ คือ ระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้งาน ที่ผู้ใช้งานสามารถประเมินความเสี่ยงจากสถานที่ต่างๆได้ด้วยตนเอง

วิธีการใช้แอพฯหมอชนะ รูปแบบการใช้งาน “หมอชนะ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง เริ่มต้นจากดาวน์โหลดแอพ “หมอชนะ” บนสมาร์ทโฟนแล้วเข้าไปตอบคำถามประเมินอาการของตัวเองในแอพฯ โดยจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ

– สีเขียว : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

– สีเหลือง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

– สีส้ม : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

– สีแดง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

หลังจากนั้น ทางระบบจะทำการส่งขอมูลเข้าระบบ โดยสีในพื้นที่ต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยทางแอพฯจะทำการแจ้งเตือนทุกครั้งเมื่อพบว่าผู้ใช้มีประวัติการเดินทางใกล้ชิดกับผู้ป่วย

ส่วนแอพฯ “ไทยชนะ” ก็เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ดำเนินการโดยธนาคารกรุงไทย แพลตฟอร์มนี้จัดทำขึ้นมาเพื่อใช้ติดตามตัวประชาชนที่จะเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า โดยจัดเก็บข้อมูลผ่านการเช็คอินและเช็คเอาต์ด้วยคิวอาร์โค้ด

วิธีการดาวน์โหลด แอพฯ ไทยชนะ

1.เข้าที่ Google Play (Android) หรือ App Store (iOS) สำหรับใครที่ใช้มือถือบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยส์ สามารถเข้าไปดาว์โหลดแอพฯ ไทยชนะ ได้ที่ Google Play และค้นหาด้วยคำว่า ไทยชนะ หรือคลิกที่ลิ้งนี้ https://play.google.com/store/apps/details?id=com.ktb.thaichana.prod

2.เปิดแอพฯ และยอมรับข้อตกลงการใช้งาน หลังจากที่เราลงแอพฯ ไทยชนะแล้ว เมื่อกดเปิดแอพฯ ครั้งแรก ระบบะจะขึ้นมาให้เราอ่านข้อตกลงในการใช้งาน ก่อน ซึ่งหากอ่านแล้ว ก็กดเลือกตรงเครื่องหมาย [x] ว่าข้าพเจ้าได้อ่านและยอมรับข้อตกลง ตามด้วยกดปุ่ม [ถัดไป]

3.กรอกรหัส OTP ที่ได้รับทาง SMS จากการทดสอบลงทะเบียนพบว่า ใช้เวลาไม่นานมากนัก ในการรอ SMS แจ้งรหัส OTP ราว 1-2 นาที) นำรหัสที่ได้มากรอกในช่อง

วิธีใช้งาน

ภายในแพลตฟอร์มไทยชนะจะประกอบไปด้วยฟีเจอร์การใช้งานต่าง ๆ และวิธีใช้งานแพลตฟอร์มไทยชนะประกอบด้วย 3 ขั้นตอนง่าย ๆ

ขั้นแรก: ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าต่าง ๆ ต้องลงทะเบียนที่ www.ไทยชนะ.com เพื่อให้มีชื่อร้านอยู่ในระบบออนไลน์ของแพลตฟอร์มนี้ จากนั้นจะได้รับคิวอาร์โค้ดของร้าน จากนั้นให้นำคิวอาร์โค้ดนั้น ๆ มาติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าร้านของตัวเอง

ขั้นที่สอง: สำหรับประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการในห้างสรรพสินค้าหรือร้านบริการต่าง ๆ ก็ให้ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ห้างฯ หรือร้านนั้น ๆ ติดไว้ที่หน้าร้าน ก่อนเข้าใช้บริการ เป็นการเช็คอินก่อนเข้าร้านและเช็คเอาท์ขณะที่กำลังจะออกจากร้านด้วย ไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เพราะใช้เพียงโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสำหรับการสแกนคิวอาร์โค้ดเท่านั้น

ขั้นที่สาม: ระหว่างที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการในห้างร้าน แพลตฟอร์มดังกล่าวจะมีฟังก์ชันให้สามารถจ่ายเงินออนไลน์ได้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินในการจ่ายชำระค่าสินค้า ก็จะช่วยป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจติดมาจากการรับเงินสดได้ ส่วนวิธีการจ่ายเงินออนไลน์นั้นก็ใช้งานง่ายไม่ต่างจากแอพพลิเคชั่นชำระเงินทั่วไป โดยต้องเติมเงินเข้าไปในระบบก่อนแล้วตามด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน