เป็นแม่ไม่ง่าย – เรื่องราวของเราดูๆ แล้วเหมือนไม่ใช่ปัญหา หรือถ้าเป็นก็เป็นเรื่องเล็กๆ แต่อยากให้ลองคิดดู เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของแนวคิดของคนต่างวัยที่เติบโตมาในสภาพสังคมและยุคสมัยที่แตกต่างกัน ชนิดคนละขั้ว

เราห่างจากสามีราวสิบห้าปี เราแต่งงานตอน 29 ปี สามีเรา 44 ปี สามีเราเค้าทำแต่งาน ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นคนดี คนอบอุ่นในสายตาผู้หญิงทั่วไป กินเหล้าบ้าง เที่ยว(ผู้หญิง)บ้าง เราเองสิ อยู่กับพ่อแม่ที่อายุมาก เราเองเป็นลูกคนสุดท้อง ห่างจากพ่อแม่เกือบห้าสิบปี เราเป็นลูกหลงของท่าน พี่ชายเราคนถัดจากเราห่างจากเรายี่สิบปีพอดีเรามีพี่น้องสี่คน พี่ๆ เราจึงอายุมากแล้วตอนเราแต่งงาน ไม่ต้องพูดถึง

ตอนมีลูกคนแรก จะว่าโชคดีที่ทุกคนในครอบครัวเรามีสุขภาพแข็งแรง พี่น้องเราทุกคนก็แข็งแรง ตอนพ่อแม่เราที่อายุจะแปดสิบทั้งคู่ ท่านก็บอกว่า เราอายุจะสามสิบแล้ว หากจะแต่งงานมีครอบครัวก็ควรจะทำได้แล้ว ไม่ต้องห่วงพ่อแม่ พ่อแม่แข็งแรง พี่น้องเราทุกคนก็มีบ้านของตัวเอง มีครอบครัว ไม่ไกลจากบ้านครอบครัวเรา

เนื่องจากเราเป็นลูกสาวคนเล็กของบ้าน เราดูแลพ่อแม่จนติดเป็นนิสัย เหมือนงานประจำที่เราเต็มใจทำนะ สามีเรามีธุรกิจของตัวเอง งานไฟฟ้าประดับที่เขาเปิดบริษัทของตัวเองมาเกือบยี่สิบปีแล้ว เขาเป็นเพื่อนของพี่ชายคนโตของเรา พี่ชายเราแนะนำให้รู้จัก เราเองไปเที่ยวกับเขา กินข้าว ดูหนัง ไปนั่นนี่กันอยู่ครึ่งปี ดูก็เป็นคนดี ใจกว้าง ชอบเลี้ยงแมวเหมือนพ่อแม่เรา บ้านเราที่มีแมวอยู่เกือบสิบตัว สุดท้ายเราก็แต่งงานกัน อยู่ด้วยกัน จนมีลูกกันสองคน

คนโตทุกวันนี้อายุ 25 ปีแล้ว คนเล็ก 21 ปี แน่นอนพ่อแม่เราท่านเสียไปสิบปีแล้ว ตอนที่ท่านเสียก็อายุเก้าสิบกว่าด้วยกันทั้งคู่ สามีเราตอนนี้อายุก็เกือบเจ็ดสิบ

เรื่องของเรื่องที่เป็นปัญหาในตอนแรกก็คือ สามีเราเขาคิดจะวางมือทางธุรกิจของเขามาเกือบสิบปีแล้ว แต่รอลูกเรียนจบก่อน หวังจะให้มาสืบทอดกิจการต่อ คำที่เขาชอบพูดกับลูกกับเมีย แต่ลูกชายเราเขาไม่เอา ไม่อยากทำ เขาบอกไม่ชอบ เขาอยากเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างปู่เขา


คือเขารู้ตั้งแต่จำความได้แล้วว่าปู่เคยเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวตั้งแต่ตอนหนุ่ม เราเองก็ช่วยงานร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างเรียนไปช่วยงานไป กลับมาที่บ้านตอนเย็นก็อยู่กับร้านก๋วยเตี๋ยวจนร้านปิด ล้างถ้วยล้างชาม ทำความสะอาดร้านแล้วค่อยไปดูหนังฟังเพลงเข้านอน เช้าตื่นมาก็ช่วยที่ร้านก่อนนิดหน่อยก่อนไปโรงเรียน อะไรทำนองนี้ พี่ๆ เราทุกคนก็ช่วยกันหมด จนพ่อล้มป่วยครั้งแรกตอนอายุ 70

จากนั้นพ่อก็เลิกร้าน ขายตึกแถวนั้นไป แล้วมาซื้อบ้านจัดสรรอยู่ ลูกเราก็เห็นภาพถ่ายร้านที่ได้เชลล์ชวนชิม ภาพดารา นักร้อง คนมีชื่อเสียงที่แวะมากินที่ร้านแล้วภาพถ่ายคู่กับร้าน คู่กับปู่ ภาพคอลัมน์ที่นักชิมในหนังสือพิมพ์ทั้งหลายแวะมากินกันแล้วเขียนชื่นชมลงในนสพ.สมัยนั้น

พ่อก็ตัดเอามาใส่กรอบแขวนโชว์ในร้าน ลูกเห็นแล้วก็ชอบ อยากทำร้านแบบปู่มั่ง ถึงขั้นขอสูตรปู่เขา เอาภาพที่เก็บต่างๆ มาใส่กรอบใหม่ หัดทำก๋วยเตี๋ยวเลี้ยงคนในบ้าน เลี้ยงปู่เลี้ยงย่าเลี้ยงลุงๆ ตั้งแต่ตอนปู่ยังมีชีวิตอยู่ ปู่ชมหลานยกใหญ่ ลุงๆ ก็พูดเหมือนกันว่า อย่างกับปู่ทำเองเลย


เขาขอพ่อเปิดร้านในตอนนั้น ลุงๆ ก็สนับสนุน พร้อมจะออกทุนให้ด้วย แต่สามีเราคัดค้าน ขอให้เรียนจบก่อน เขาอยากให้ลูกเรียนวิศวะ จบมาแล้วทำอย่างพ่อ สืบทอดธุรกิจพ่อต่อ ตอนนั้นเราก็บอกกับลูกว่า เรียนจบก่อนเถอะ แล้วค่อยว่ากัน อย่าไปเถียงพ่อเลย

เป็นแม่ไม่ง่ายจริงๆ เลยอย่างชื่อคอลัมน์มาขอสัมภาษณ์เรา ถามเราตรงๆ เราก็อยากให้ทำทั้งสองอย่างนะ แต่สามีเราเขาโตมาอย่างคนอีกรุ่น เขามองว่าร้านก๋วยเตี๋ยวมันเหนื่อย ได้เงินน้อย ซึ่งข้อนี้เราเถียงแทนลูกเลยว่า ไม่จริง พ่อเราเลี้ยงลูกสี่คนให้อยู่อย่างสบายๆ ไม่ต้องลำบากเลยก็เพราะก๋วยเตี๋ยวนี่แหละ สามีเราก็เถียงว่าเพราะพ่อประหยัดมากกว่า

เราบอกไม่จริง ก๋วยเตี๋ยวหรือธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร ถ้าไม่กำไรร้อยเปอร์เซ็นต์ต่อการลงทุน เขาไม่ทำกันหรอก ธุรกิจที่กำไรงามๆ เขาทำถึง 300-500 % ทั้งนั้น ที่มันไปได้ก็เพราะชื่อเสียง วัสดุคุณภาพของอาหาร สภาพร้านและอื่นๆ รวมกัน อีกอย่างถึงแม้เศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน คนเราก็ต้องกิน ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี คนเขายิ่งเลือกร้านเลือกของที่จะกินทั้งนั้น หากเราดีจริง อร่อย ไม่แพงในสายตาคนกิน เราไม่มีทางขายไม่ออกหรอก

เด็กอย่างลูกเรา เราเองกับสามีก็สอนให้เขาเป็นคนมีความคิดของตัวเอง สภาพสังคมทุกวันนี้เขาก็เติบโตมาอย่างนี้ เขาเรียนจบมา ไปทำงานบริษัทอื่น ไปเป็นลูกน้องเขาอย่างที่พ่อเขาอยากให้เป็น เขาก็ทำเพื่อพ่อมาสองปีเต็มๆ เมื่อพ่ออยากให้เขาสืบทอดอย่างที่เล่ามา

เถียงกันไม่จบเป็นเดือนๆ

สุดท้ายพบกันครึ่งทาง ลูกชายเราได้เปิดร้านด้วยทุนของพ่อแม่กับลุงๆ ส่วนธุรกิจของพ่อก็ได้ลูกน้องเก่าแก่ที่ทำด้วยกันมานานช่วยเหลือดำเนินไปต่อ โดยพ่อขายหุ้นให้ 30 % มี ลูกสาวเราที่เพิ่งเรียนจบมาช่วย

ทุกวันนี้แม้จะมีโควิดเลยปีมาแล้ว แต่ร้านก็พอไปได้ ไม่ขาดทุน กิจการของพ่อก็เช่นกัน ทรงๆ ไปได้ ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนตอนก่อนโควิด แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเลิกกิจการไป

เราว่าคนแต่ละรุ่นก็มีความคิดของเค้าเอง มีแต่การพูดคุยและรอมชอมกันที่ทำให้แก้ไขปัญหาร่วมกันไปได้ # .

ขึ้นหนึ่งค่ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน