การจามเป็นเพียงหนึ่งในกลไกการป้องกันตามธรรมชาติของร่างกายที่จะช่วยป้องกันและขจัดสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย สิ่งสกปรก ฝุ่น เชื้อรา ละอองเกสร หรือควัน ก่อนเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู จมูก และคอ ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ซิตี เผยการกลั้นจาม โดยการกลั้นหายใจ พยายามเอามือปิดปาก หรือบีบจมูก ถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพและควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเช่นนี้ เพราะอาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนมากมาย

ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจึงขอเตือนภัยใกล้ตัว สิ่งที่อาจเกิดขึ้นหลังการกลั้นจาม พร้อมแบ่งปันวิธีป้องกันการจามอย่างง่าย ๆ

1. แก้วหูแตก เมื่อความกดอากาศก่อตัวขึ้นสูงในระบบทางเดินหายใจ ร่างกายจะส่งอากาศไหลเข้าผ่านไปยังท่อของหูในแต่ละข้าง ซึ่งเชื่อมต่อกับหูชั้นกลางและแก้วหูที่เรียกว่าท่อยูสเตเชียน ก่อนที่จะจามออกมา

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นไปได้ที่การกลั้นจามจะทำให้แก้วหูแตกและทำให้สูญเสียการได้ยิน แก้วหูที่แตกส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ แต่ในบางกรณีจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

2. หูชั้นกลางอักเสบ การจามเรียกง่าย ๆ ว่าจะช่วยล้างจมูก หากกลั้นจามจะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของอากาศกลับจากจมูกเข้าไปในหู ซึ่งอาจเป็นพาหะนำแบคทีเรียหรือเสมหะที่ติดเชื้อไปยังหูชั้นกลางจนทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งมักมีอาการปวด

3. หลอดเลือดเสียหาย ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้จะเกิดได้ยาก การกลั้นจามอาจทำให้ความดันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้หลอดเลือดฝอยในช่องจมูกและดวงตาขยายจนกระทั่งบีบแตก ซึ่งสามารถเห็นง่าย ๆ จากการที่จมูกและดวงตาแดง

4. การบาดเจ็บของกระบังลม กะบังลมเป็นส่วนกล้ามเนื้อของหน้าอกเหนือหน้าท้อง แม้ว่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่เป็นกรณีร้ายแรง หากอากาศที่มีแรงดันติดอยู่ในกะบังลมจะทำให้ปอดของยุบ

ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการเจ็บหน้าอกหลังจากจาม หากเป็นอาการเรื้อรังสามารถคุกคามถึงชีวิต ดังนั้น ขอแนะนำให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที

5. เส้นเลือดโป่งพอง เป็นกรณีที่หายากมาก แต่มีความเป็นไปได้ที่การกลั้นจามก่อให้เกิดหลอดเลือดโป่งพองในสมองนำไปสู่อาการเส้นเลือดในสมองแตก อันเนื่องมาจากการกลั้นจามจนสะสมความดันในกะโหลกใต้สมองที่ส่งต่อไปยังเข้าสมองด้านซ้าย

6. คอหอยเสียหาย แพทย์พบผู้ป่วยอาการคอแตกจากการจามอย่างน้อย 1 ราย ชายวัย 34 ปีที่ได้รับบาดเจ็บมีรายงานว่ามีอาการปวดมาก แทบจะไม่สามารถพูดหรือกลืนได้ และรู้สึกจุกที่คอ ซึ่งเริ่มบวม หลังจากที่เขาพยายามจะจามโดยการปิดปากและบีบจมูกพร้อมกัน

7. ซี่โครงหัก จากกรณีผู้สูงอายุถูกรายงานว่าซี่โครงหักเนื่องจากการจาม เหตุเกิดจากอากาศที่มีความกดอากาศสูงดันเข้าไปในปอดทั้งสองข้างอย่างรุนแรง

การป้องกันการจาม

1. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อทำความสะอาดบ้านหรือออกไปข้างนอกบ้าน เพื่อป้องกันตัวเองจากการสัมผัสกับสารระคายเคืองในอากาศ

2.หลีกเลี่ยงการมองตรงไปยังแสงไฟ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมีอาการจามเมื่อมองแสงจ้า หรือที่เรียกว่า อาการจามจากแดดหรือรีเฟล็กซ์จามจากแสง (Photic Sneeze Reflex) หากท่านใดมีอาการจามเมื่อมองแสง เราขอแนะนำให้สวมใส่แว่นตากันแดดโพลาไรซ์ ที่จะช่วยลดการแสงสะท้อน

3. หลีกเลี่ยงการทานมากเกินไป การจามหลังทานอาหารเรียกว่า Snatiation Reflex ซึ่งเป็นการรวมกันของคำว่า จาม และ อิ่ม เกิดจากการมีอาหารเป็นตัวกระตุ้น เช่น อาหารเผ็ดหรืออาหารที่มีกลิ่นฉุน

เมื่อกระเพาะอาหารเต็มและขยายออกส่งผลให้สามารถจาม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการจุกเสียด ขอแนะนำให้เคี้ยวช้า ๆ และทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ

4. จดบันทึกการจาม สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ที่มักจะจามเป็นช่วง ๆ 2 – 3 ครั้ง หมั่นจดบันทึกเวลาและสถานที่ที่คุณจามมากที่สุด

5. ใช้ลิ้นแตะเพดานปาก หรือใช้ลิ้นกดแรง ๆ กับฟันหน้า 2 ซี่ หลังจากผ่านไปประมาณ 5 – 10 วินาที อาการอยากจามอาจหายไป

ขอบคุณที่มาจาก Mirror Healthline

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน