เมืองเก่าภูเก็ต สัมผัสเสน่ห์ชีวิตโบราณ เติมเต็มรสชาติ ท่องเที่ยวเกาะดัง
ฉายา “ไข่มุกอันดามัน” ได้มาจากความสดใสสวยงามของท้องทะเลที่ล้อมรอบเกาะภูเก็ตแห่งนี้ แต่อีกมุมหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต คือความงดงามของสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิต ที่สืบทอดกันมานับร้อยปี ซึ่งยาวนานก่อนที่หาดทราย ชายทะเล จะโด่งดังระดับโลกเสียอีก
“เมืองเก่าภูเก็ต” กับสถาปัตยกรรม “ชิโนยูโรเปี้ยน” หลายคนอาจไม่ชินหูกับคำนี้ เพราะเคยได้ยินกันแต่คำว่า “ชิโนโปรตุกีส” จึงได้รับคำอธิบายจากนักสื่อความหมายประจำท้องถิ่นที่บอกว่า แท้จริงแล้วสถาปัตยกรรมที่เราเห็นในรูปแบบอาคารบ้านเรือนต่างๆ นี้ ไม่ได้บ่งชี้เป็นการเฉพาะว่าเป็นของชาติโปรตุเกส
แต่บ่งชี้ได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมของชาวตะวันตก ซึ่งมีหลายประเทศ จึงควรใช้คำว่าชิ โนยูโรเปี้ยน จะครอบคลุมมากกว่า
หากต้องการดื่มด่ำกับกลิ่นอายของเมืองเก่าภูเก็ตแบบทุกซอกมุม การท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยให้ชุมชนเป็นคนพาเที่ยว พาชม พากิน และสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นอย่างแท้จริง
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. นำเกณฑ์และองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เข้ามาแนะนำ ให้ความรู้ถึงการบริการที่มีมาตรฐาน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน เพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต นำเสนอให้นักท่องเที่ยวเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตด้วยความภาคภูมิใจ
วัฒนธรรมอาหารถิ่นเพอรานากัน
เริ่มกันที่ร้าน BANN 92 cafe ด้านหน้าเป็นร้านกาแฟ แต่เมื่อเดินทะลุไปหลังบ้าน จะได้สัมผัสถึงกลิ่นอายเมืองภูเก็ตเพราะจุดนี้เป็นที่ตั้งของเชฟชุมชน ย่านเมืองเก่าภูเก็ต ได้เรียนรู้และทดลองทำ “ผัดหมี่สะปำ” หรือผัดหมี่ฮกเกี้ยน อาหารของชาวจีนฮกเกี๊ยน ไม่ใช่แค่รู้วิธีผัดหมี่ และเครื่องปรุง
แต่ยังได้รู้ว่า ชาวภูเก็ต โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี๊ยน ให้ความสำคัญกับเตาไฟ และมีพิธีกราบไหว้เทพจ้าเตาไฟ ตามความเชื่อของชาวจีนฮกเกี้ยน ภูเก็ต – ปีนัง – ฝูเจี้ยน เทพเจ้าเตาไฟเป็นเทพที่คอยคุ้มครองดูแลความเป็นอยู่ และจดบันทึกการกระทำของคนในบ้าน เพื่อกลับไปรายงานหยกอ๋องซ่งเต่ เทพเจ้าสูงสุด ในวันแรกของเทศกาลตรุษจีน
เมืองเก่าภูเก็ต เป็นพื้นที่อาศัยของ 3 เชื้อชาติ คือ ชาวจีน ชาวมลายู และชาวไทย เป็นพหุวัฒนธรรม คือ จีน อิสลาม และพุทธ ทำให้คนที่นี่มีวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และเกิดเป็นวัฒนธรรม “เพอรานากัน” สะท้อนวิถีชีวิต ผ่านเรื่องราวของอาหารการกินของชุมชน
นอกจากหมี่สะปำฝีมือตัวเองแล้ว อย่าพลาดลิ้มรสชาติอาหารพื้นถิ่น ทั้งมัสหมั่นไก่ ที่เนื้อไก่ผ่านการเคี่ยวไฟจนละลายในปาก แกล้มกับสลัดผัก ที่มีรสเปรี้ยวอมหวานจากผลไม้ ยังมีต้มส้มปลาที่ทุกคำจะได้กลิ่นขิงขึ้นจมูก ต่อด้วยปลาเจี๋ยนตะไคร้ที่ได้รสหวานจากความสดของเนื้อปลาและกลิ่นคะไคร้อ่อนๆ สูตรนี้เป็นของชาวบาบ๋า ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองภูเก็ตขนานแท้ อิ่มคาวแล้วยังต่อด้วยขนมหวานพื้นเมืองอย่างโอ๊ะเอ๋วหวาน เย็นชื่นใจ
หากมาเที่ยวชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต มื้อกลางวันที่นี้ จะเสิร์ฟใส่ปิ่นโต 1 คน 1 ปิ่นโต ปลอดภัยไร้กังวล โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เช่นนี้
โรงตีเหล็กที่เหลือแห่งสุดท้าย
อิ่มท้องแล้ว นักสื่อความหมายของชุมชนย่านเมืองเก่า จะพาเดินชมความงามของอาคารบ้านเรือน ลัดเลาะเข้าซอกซอยต่างๆ อย่างเชี่ยวชาญ พร้อมเกร็ดความรู้ ความรุ่งเรืองในอดีตของย่านการค้าแห่งนี้ ซึ่งมีทั้งย่านบันเทิง ย่านค้าขาย โรงเตี๊ยม
เดินเรื่อยจนถึงร้าน ‘ไต่สุ่นอั้น’ เป็นโรงตีเหล็กด้วยมือ ซึ่งเหลือแห่งสุดท้ายบนถนนดีบุก ในเมืองภูเก็ต เพราะเมื่อ 50 ปี ก่อน ภูเก็ตคือจังหวัดที่มีทรัพยากรแร่ดีบุกจำนวนมาก และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย
ปัจจุบัน โรงตีเหล็กแห่งนี้ ซึ่งมี โกโป้-มนูญ หล่อโลหะการ เป็นผู้สานต่องานจากรุ่นพ่อ-แม่ เปิดโรงตีเหล็กแห่งนี้ด้วยใจรัก ซึ่งงานที่รับทำส่วนใหญ่เป็นการตีเหล็กเพื่อทำจอบ เสียม และเครื่องมือการเกษตรเล็กๆน้อยๆ สำหรับชาวไร่ชาวสวน
และถ้ามาเที่ยวแล้วอยากทดลองตีเหล็กร้อนๆ จากเตาเผาก็ยังได้
เต่าแดง-ขนมมงคล
ลัดเลาะไปอีกหน่อย เป็นจุดทำขนมมงคล “เต่าแดง” หรือ “อังกู๊โก้ย” ซึ่งเป็นขนมมงคลในประเพณีพ้อต่อ เป็นขนมของชาวจีนฮกเกี้ยนที่ใช้ในประเพณีสารทจีนไว้เซ่นไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ
ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเหนียว ใส่ไส้ถั่ว รสชาติคล้ายๆขนมเทียน แต่ตัวแป้งจะใส่สีแดงผสม เมื่อปั้นแป้งห่อไส้แล้วจะนำไปกดในพิมพ์ที่รูปเต่า แล้วจึงนำไปนึ่งในน้ำเดือดราว 15 นาที ปัจจุบันเป็นขนมที่ชาวภูเก็ตนิยมเสิร์ฟพร้อมชา กาแฟ ตอนเช้าหรือบ่าย
พิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเล่าอดีต
จากนั้นมุ่งหน้าไปชมพิพิธภัณฑ์บ้านเก่าเมืองภูเก็ต หรือ Woo Gallery and Boutique Hotel ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของร้านหม่อเส้งแอนด์โก MOH SENG & Co. จำหน่ายนาฬิกาประเภทต่างๆ และนำเข้าสินค้าจากยุโรป และจากปีนัง ส่วนใหญ่เป็นของประดับ ตกแต่งบ้าน
ปัจจุบันเจ้าของบ้านซึ่งเป็นทายาท ดัดแปลงจากบ้านโบราณรูปทรงตามแบบสถาปัตยกรรมชิโนยูโรเปี้ยน ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว และนำของเก่าที่สะสมไว้มาจัดแสดง บอกเล่าเรื่องราวในอดีต
เนื่องจากตัวบ้านเป็นอาคาร 2 ชั้น กว้าง 7 เมตร แต่ยาวถึง 106 เมตร ยาวกว่าสนามฟุตบอล การเข้าชมจึงมีผู้นำชมและอธิบายทีละจุด โดยคิดค่าเข้าชมคนละ 100 บาท
ด้านหนึ่งเป็นทางเข้าชมพิพิธภัณฑ์ ติดกับถนนถลาง อีกด้านหนึ่งเป็นทางเข้าของโรงแรม Woo Gallery and Boutique Hotel ติดถนนพังงา ซึ่งเจ้าของแบ่งพื้นที่ทำห้องพักไว้ 12 ห้อง
แต่ละจุดแต่ละมุมของบ้านจำลองวิถีชีวิตบอกเล่าเรื่องราวในอดีตผ่านการตกแต่งในบ้านที่ยังคงเดิม ทั้งกระเบื้องจากอิตาลี เฟอร์นิเจอร์จากเมืองจีน และโต๊ะอาหารจากเมืองปีนัง แสดงให้เห็นถึงการค้าขายที่รุ่งเรืองของคนสมัยก่อน และการอยู่รวมกันของครอบครัวคนจีน
ชมพิพิธภัณฑ์แล้วก็มาแวะจิบน้ำชาและขนมอร่อยๆ พร้อมฟังการดีดกู่เจิงจากสาวน้อย แอนนี่ นางฟ้ากู่เจิง แม้จะพิการทางสายตา แต่น้องเล่นกู่เจิง ได้อย่างไพเราะ จนหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง
สนุกพร้อมรับฟังความรู้มากมายปิดท้ายด้วยการเที่ยวชม ช็อป สินค้าเสื้อผ้าของใช้ของคนพื้นเมือง แล้วกลับที่พัก พร้อมลุยเที่ยวทะเลภูเก็ตในวันต่อไปได้อย่างสบาย
ใครที่เคยเดินชมเมืองเก่าภูเก็ต แต่ยังไม่ดื่มด่ำถึงวิถีชีวิตแบบคนเมืองเก่าภูเก็ตจริงๆ แนะนำการท่องเที่ยวโดยชุมชนของย่านเมืองเก่าภูเก็ต แล้วจะคุณอาจหลงรักภูเก็ มากกว่าเดิม
สามารถโทร.นัดกับชุมชนก่อน ติดต่อ คุณสมยศ ปาทาน (คาร์ล) ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่หมายเลข 084-305-3960