ตรัง เกษตรกรนาโยงใต้ หันทำนาอินทรีย์ 10 ไร่ เลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง 3 ชนิด ผลผลิตเข้าโรงสีชุมชน ได้ข้าวกล้องปลอดสาร ขายออนไลน์ ลูกค้าบริโภคข้าวดี ไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา

วันที่ 8 มี.ค.65 นายชัยพร จันทร์หอม อดีตข้าราชการวัย 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 4 ต.นาโยงใต้ อ.เมือง จ.ตรัง ใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ ด้วยการหันมาพลิกผืนนาร้างหลังบ้าน บนเนื้อที่ 10 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองรวม 3 สายพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2560

โดยข้าวที่ปลูก ได้แก่ ข้าวเล็บนก ข้าวเบายอดม่วง และข้าวนางขวิด ข้าวอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ผลผลิตต่อปี 2.5 ตัน หรือ 250 กิโลกรัมต่อไร่ นำเข้าโรงสีของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จ่ายค่าสีข้าวกิโลกรัมละ 1 บาท สีออกมาเป็นข้าวกล้อง 3 สายพันธุ์ ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทั้งปลายข้าว จมูกข้าว เกลือแร่และวิตามินต่างๆ เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน แจกให้บรรดาญาติพี่น้อง จำนวนหนึ่ง

ส่วนข้าวที่เหลือ 1,200-1,300 กิโลกรัมต่อปี ขายผ่านทางออนไลน์ ราคากิโลกรัมละ 40-60 บาท หากซื้อ 10 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาจะลดลงมากิโลกรัมละ 5 บาท เกษตรกรหวังให้ผู้บริโภคได้กินข้าวกล้องปลอดสาร ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ที่มีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-120 บาท

นอกจากนี้ การสีข้าวขายเองทางออนไลน์ เป็นการปิดช่องทางการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคารับซื้อ เพื่อนำไปเป็นข้าวขัดขาว และแช่ยาป้องกันมดมอด ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์วิถีการทำนา ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองสูญหายไป แต่ละปีสร้างรายได้ให้เกษตรกร 36,000-40,000 บาท

สนใจข้าวกล้องอินทรีย์พันธุ์พื้นเมือง 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้มีวางจำหน่ายที่หน้าบ้านของเกษตรกร หรือสามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก นายชัยพร จันทร์หอม หรือที่หมายเลขโทรศัพท์ 094-5955158

นายชัยพร กล่าวว่า ถ้าขายเป็นข้าวเปลือกเกวียนหนึ่งได้ 16,000-18,000 บาท ด้วยความเสียดายข้าว หากนำไปขัดขาวจะเหลือแค่ 40 เปอร์เซ็นต์หรือเหลือแต่แป้ง แต่พอทำข้าวกล้องจะได้วิตามิน เกลือแร่ครบถ้วน จมูกข้าวยังดี ตนต้องการรณรงค์ให้คนกินข้าวกล้อง แต่ถ้ามาดูที่ขายกันในห้างจากโรงสีราคา 100-120 บาท คนทั่วไปเข้าไม่ถึง เพราะคนทั่วไปซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 25-30 บาท ถือว่าสูง

ตนจึงมาทำข้าวกล้องราคาถูก คุณภาพมาตรฐาน ปีที่ผ่านมามีกลุ่มต่างๆ สนใจเรื่องข้าวอินทรีย์ ตนขายกลุ่มเครือข่ายสาธารณสุข เกษตร และตลาดของคนรักสุขภาพ ตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตนสีข้าวสารไป 10 กระสอบ ประมาณ 400 กว่ากิโลกรัมแล้ว ถือว่าใช้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน