ปัจจุบันมนุษย์เริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาบุหรี่ ซึ่งในกระบวนการผลิตบุหรี่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การผลิต การจัดจำหน่ายยาสูบ และขยะที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น

ปีนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้กำหนดประเด็นรณรงค์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ ซึ่ง มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสัมมนาภาคีเครือข่าย เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ภายใต้คำขวัญ ‘บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม’ เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ปีนี้เป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ จากที่อดีตจะเน้นที่สุขภาพต่อตัวผู้สูบและคนรอบข้าง ทั้งที่ความเป็นจริง ยาสูบสร้างความเสียหายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะขยะจากก้นบุหรี่ และถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่หลายหน่วยงามเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น

โดยเฉพาะ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด รวม 24 แห่งทั่วประเทศ หลังจากต่างประเทศมีการห้ามมานานแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้ทุกหน่วยงาน รวมถึงผู้ที่ยังสูบบุหรี่อยู่ เลิกสูบ และหันมาร่วมกันทำสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้ปลอดบุหรี่ เพื่อทำให้มีโอกาสเลิกสูบบุหรี่ได้มากขึ้น เพราะจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 พบว่า มีคนไทยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคเบาหวาน และยังสูบบุหรี่ มีจำนวนกว่า 2 ล้านคน

สำหรับคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน เมื่อสูบบุหรี่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมอง และไตเสื่อม เร็วขึ้น จึงขอให้ตัดสินใจมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบบุหรี่ ขณะเดียวกัน ผู้สูบบุหรี่ต้องเริ่มต้นด้วยการไม่สูบบุหรี่ในบ้าน และในรถ จะทำให้การเลิกสูบบุหรี่ง่ายขึ้น

แพทย์หญิง โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงเหตุผลในการขับเคลื่อนของปีนี้ว่า เนื่องจากบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะก้นบุหรี่ ที่นอกจากมีส่วนผสมของพลาสติกย่อยสลายยากแล้ว ยังมีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิด ปนเปื้อนลงสู่ดิน โดย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง

แต่ละปีมีบุหรี่ราว 4.5 ล้านล้านมวน ถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม จัดเป็นขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุด และเป็นขยะที่พบบ่อยที่สุดบนชายหาด อีกทั้งในแต่ละปีพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลกถูกถางออก เพื่อการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบ ดังนั้น มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จึงดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสริมว่า ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม โดยยาสูบนั้นจัดเป็นขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้สัตว์ทะเล ต้องตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี

ขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า จากการทำวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ในปี 2558 พบว่า มีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานกำหนดหลายเท่า ดังนั้น คุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าว จึงไม่เหมาะสมกับการเป็นชายหาดที่เหมาะแก่การเดินทางมาพักผ่อน

สำหรับนโยบายควบคุมยาสูบเพื่อสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่นั้น นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายของการรณรงค์วันงดสูบบุหรี่ในปีนี้ให้เป็นภาคปฏิบัติ โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันดูแล และปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่ ไม่ใช่เพียงแค่ปกป้องทุกคนในสังคม แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบๆ ตัวเราอีกด้วย

ขณะที่ นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยว่า จากการสำรวจชายหาดแต่ละแห่ง พบว่า มีก้นกรองบุหรี่ตกค้างมากกว่า 1 แสนชิ้น เป็นที่มาของโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ นำร่อง 24 ชายหาด 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล เช่น หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ และทิ้งก้นกรองบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย ต้องการรณรงค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดบุหรี่ จะเห็นได้ว่าโทษของบุหรี่ใช่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่พบว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ในทุกขั้นตอน ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย มาร่วมกันดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อรักษาสุขภาพของเรา และโลกให้น่าอยู่สืบต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน