“เสถียร จันทิมาธร”

บทบาทของโลซกนอกเหนือจากนำเสนอ “นโยบายยี่ภู” หรือ “ยุทธศาสตร์กังตั๋ง” ให้กับซุนกวนแล้ว อีกบทบาทหนึ่งซึ่งสำคัญก็คือ บทบาทในฐานะเป็นเหมือนกับ “แม่เหล็ก”

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า

ฝ่ายจูกัดกิ๋น ซึ่งเป็นพี่ชายขงเบ้งนั้น อยู่ ณ แดนเมืองเกงจิ๋ว เป็นเพื่อนรักกับโลซก ครั้นรู้ข่าวว่า โลซกไปอยู่เมืองกังตั๋ง จูกัดกิ๋นไปเยือนโลซก

โลซกมีความยินดี จึงชักชวนจูกัดกิ๋นให้เข้าอยู่ด้วยซุนกวน จูกัดกิ๋นก็ยอม

โลซกจึงพาเข้าไปหาซุนกวนแล้วบอกว่า “จูกัดกิ๋นนี้เป็นเพื่อนของข้าพเจ้ามาแต่ก่อน บัดนี้ยอมเข้ามามาทำราชการอยู่ด้วยท่าน”

ซุนกวนได้ฟังดังนั้น ก็มีความยินดี จึงเอาจูกัดกิ๋นไว้เป็นที่ปรึกษา

แล้วซุนกวนจึงหารือกับที่ปรึกษาทั้งปวงว่า “อ้วนเสี้ยวให้หนังสือมาถึงพี่เราให้ยกกองทัพไปช่วยกำจัดโจโฉเสียนั้น บัดนี้พี่เราก็ตาย ท่านทั้งปวงจะให้เราเข้าด้วยกับอ้วนเสี้ยวดีหรือ หรือจะให้เราเข้าด้วยโจโฉ”

จูกัดกิ๋นจึงว่า “ซึ่งจะเข้าด้วยอ้วนเสี้ยวนั้น ไม่ควร ขอให้เข้าใจด้วยโจโฉ ถ้าเห็นได้ท่วงทีแล้วจะได้คิดการใหญ่ต่อไป”

ซุนกวนเห็นชอบด้วยจึงแต่งหนังสือตัดทางไมตรีให้ตันจิ๋นถือกลับเอาไปให้อ้วนเสี้ยว

เมื่ออ่านสามก๊กสำนวนใหม่ วรรณไว พัธโนทัย ประกอบก็จะมองเห็นถึง “ความนัย” บางประการจากเนื้อความในตอนเดียวกันนี้

นั่นก็คือ

ต่อมาโลซกนำชายคนหนึ่งมาพบซุนกวน ชายคนนี้มีความรู้ความสามารถมาก และเป็นคนกตัญญูรู้คุณคน แซ่จูกัด ชื่อกิ๋น มีชื่อรองว่า จื่ออี้ เป็นชาวเมืองลำหยง

ซุนกวนยกย่องเป็นแขกผู้มีเกียรติ และให้การต้อนรับอย่างดี

จูกัดกิ๋นพูดจาหว่านล้อมมิให้เข้าด้วยอ้วนเสี้ยว ขอให้เข้ากับโจโฉดีกว่า เมื่อมีท่วงทีแล้ว จึงค่อยคิดการใหญ่

ซุนกวนเชื่อถ้อยคำของจูกัดกิ๋น จึงให้ตันจิ๋น ถือสาส์นบอกปัดการร่วมมือกลับไปให้อ้วนเสี้ยว

เมื่อตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่า สำนวนแปล วรรณไว พัธโนทัย ตรงกันกับสำนวนแปล พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช

ที่สำคัญก็คือ แปลไปตาม “เนื้อความ”

มิได้เป็นการอธิบายอย่างสำนวนเก่า เจ้าพระยาพระคลัง (หน) โดยเฉพาะตรงประโยคที่ว่า “ฝ่ายจูกัดกิ๋นซึ่งเป็นพี่ชายขงเบ้ง” ขณะที่ พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช เพียงขยายความในวงเล็บ (คนนี้ คือพี่ชายจูเกอะ เหลียง ขงหมิง) เท่านั้น

กระนั้น ทั้งหมดล้วนยืนยันว่าโลซกกับจูกัดกิ๋นเป็นเพื่อนกัน

เรื่องราวของโลซก เรื่องราวของจูกัดกิ๋น สำนวนแปล เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ปรากฏในตอนที่ 26 กล่าวถึงโลซก ขณะที่สำนวนแปล วรรณไว พัธโนทัย ปรากฏในตอน 29 เด็กตาเขียวมรกต เข้าคุมกังตั๋ง สำนวนแปล พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ปรากฏในตอนที่ 29 เจ้าตาเขียวซุนเฉวียน ครองเจียงตง

ความน่าสนใจอยู่ที่การเอ่ยถึง “ขงเบ้ง” เป็นครั้งแรก

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ปรากฏในตอน 33 เล่าปี่เชิญขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา สำนวน วรรณไว พัธโนทัย ปรากฏในตอน 37 สุมาเต็กโช แนะนำให้รู้จักยอดทหาร เล่าปี่ เยี่ยมกระท่อมหญ้าคา 3 ครั้ง

สำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ปรากฏในตอน 36 เสวียนเต๋อใช้แผนตีฝานเฉิง หยวนจื่อ(ซ่านฝู) แนะนำจูเกอะเหลียง

ในความเป็นจริง จูกัดกิ๋นจึงมาก่อนจูกัดเหลียง

ขณะเดียวกัน ในความเป็นจริง จูกัดกิ๋นมีสายสัมพันธ์กับโลซกถึงขั้นว่าเป็นเพื่อนสนิท เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความสนิทสนมระหว่างโลซกกับจูกัดกิ๋นจะเป็นที่รับรู้ของจูกัดเหลียงด้วย

นั่นหมายรวมไปถึง “มุมมอง” และการวิเคราะห์ “สถานการณ์”

ต้องยอมรับว่า การวิเคราะห์สถานการณ์แผ่นดินฮั่นของโลซก และจูกัดเหลียงสอดรับ และใกล้เคียงกันเป็นอย่างมาก

เพียงแต่โลซกวางอยู่ที่ซุนกวน เพียงแต่จูกัดเหลียงวางอยู่ที่เล่าปี่

หากติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองและทางการทหารของง่อก๊กและของก๊ก เล่าปี่อย่างต่อเนื่องก็จะมองเห็นความสัมพันธ์และความขัดแย้งกัน และซึมซ่านภายในความสัมพันธ์และการต่อสู้กันระหว่างซุนกวนกับเล่าปี่ และระหว่างเล่าปี่กับซุนกวน โดยมี โลซกและขงเบ้งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ

เป็นความขัดแย้งและต่อสู้จนชั่วชีวิตของโลซกก็ว่าได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน