“เสถียร จันทิมาธร”

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า ฝ่ายโจโฉครั้นรู้กิตติศัพท์ว่า ซุนเซกตายแล้ว จึงปรึกษาด้วยทหารทั้งปวงว่า

“ซุนเซกตายแล้ว บัดนี้ ซุนกวนผู้น้องได้เป็นใหญ่อยู่รักษาเมืองแทน พี่เราจะยกกองทัพไปตีเอาเมืองกังตั๋ง ท่านทั้งปวงจะเห็นประการใด”

เตียวเหียนจึงแกล้งอุบายว่า

“ซุนเซกตายแล้ว ซุนกวนกับญาติพี่น้องทั้งปวง ก็ยังแต่งการศพอยู่ ซึ่งท่านจะยกกองทัพไปรบเอา เมือง กังตั๋งนั้น ในขณะนี้คนทั้งปวงก็จะครหานินทาได้ ประการหนึ่ง ถ้าท่านไปทำสงครามเสียท่วงทีก็จะอัปยศเป็นอันมาก ท่านจงคิดอ่านเอาใจซุนกวนไว้ดีกว่า”

โจโฉเห็นชอบด้วย จึงเข้าไปกราบทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้ ให้ตั้งซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋ง เตียวเหียนนั้นเป็นปลัด

พระเจ้าเหี้ยนเต้ก็ยอม

แล้วโจโฉแต่งตราตั้งให้เตียวเหียนถือกลับไปให้ซุนกวน ซุนกวนแจ้งดังนั้นก็มีความยินดี ทั้งได้เตียวเหียนกลับมา แล้วให้เตียวเหียนกับเตียวเจียวเป็นขุนนางผู้ใหญ่สำหรับจัดแจงบ้านเมือง

เมื่ออ่านสำนวน วรรณไว พัธโนทัย ประสานกับสำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ในเชิงเปรียบเทียบก็จะสัมผัสได้ใน “รายละเอียด” ปลีกย่อยบางประการ คล้ายกับจะเป็นการใช้คำคนละความ แต่ความอันแตกต่างกันนั้นทรงความหมาย

ต้องอ่าน

สํานวน วรรณไว พัธโนทัย ว่า ฝ่ายโจโฉครั้นทราบข่าวว่า ซุนเซกตายก็คิดจะยาตราทัพลงมาตีดินแดนตอนใต้ของแม่น้ำ (แยงซีเกียง)

เตียวเหียนทัดทานว่า

“ซึ่งเราถือโอกาสเข้าทำร้ายผู้ที่กำลังทุกข์โศกนั้น ดูเป็นการไร้ศีลธรรม หากไปเสียก็กลับมาก็จะกลายเป็นศัตรูกันตลอดไป สู้เราทำดีแสดงความเห็นอกเห็นใจในตอนนี้จะงามกว่า”

โจโฉเห็นชอบด้วย จึงกราบทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้ให้ทรงตั้งซุนกวนเป็นขุนพลครองนครห้อยเข ให้เตียวเหียนเป็นปลัดเมือง แล้วแต่งผู้แทนพระองค์ เอาตราตั้งไปมอบให้ซุนกวน ซุนกวนดีใจยิ่งนักเมื่อได้เตียวเหียนกลับมาช่วยเป็นกำลังอีกคน ก็มอบให้เตียวเหียนกับเตียวเจียวร่วมการบริหารบ้านเมืองอย่างเต็มที่

สำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ว่า เฉาเชาเมื่อ รู้ว่าซุนเซ่อเสียชีวิตคิดอยากจะไปตีเจียงหนานแต่ถูก จางหงทัดทานว่า

“ฉวยโอกาสขณะกำลังทำงานศพถือว่าไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรม หากไม่ชนะจะเป็นการเพาะศัตรูเปล่าๆ มิสู้ใช้วิธีทำดีด้วย ดีกว่า”

เฉาเชาเห็นด้วย ตั้งซุนเฉวียนเป็นขุนพล เจ้าเมืองไขว้จี ให้จางหงเป็นผู้บัญชาการทหารของไขว้จี ให้ตราตั้งกลับเจียงตง ซุนเฉวียนดีใจที่ได้ตัวจางหงกลับมาหวู จึงให้ร่วมปรึกษาราชการแผ่นดินกับจางเจา

น่ายินดีที่ พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ทำวงเล็บอธิบาย (จางหงถูกกักไว้ให้อยู่เมืองหลวง ตอนที่มีการแต่งงานระหว่างลูกสาวเฉาเหรินกับซุนควง เฉาเชาทำเช่นนี้เพื่อเอาตัวจางหงไว้เป็นตัวประกัน)

นามานุกรมบุคคลในสามก๊กบอกให้รู้ว่า

เตียวเหียน (จางหง) เป็นคนดีมีความรู้ความสามารถไม่เห็นแก่ลาภยศ ประพันธ์บทกวีไว้ 10 กว่าบท เขียนอรรถาธิบายคัมภีร์อี้จิง คำประพันธ์ยุคฮั่น หลี่จี้ จ่อซอ และ ชุนชิว มีชื่อเสียงโด่งดัง จิวยี่ เป็นผู้แนะนำซุนเซกให้เชิญเตียวเหียนกับเตียวเจียวมาเป็นที่ปรึกษา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นซันเหมาเจิงยี่ (เสนาธิการทหาร)

เมื่อซุนเซกเป็นใหญ่ขึ้นในกังตั๋ง ได้ให้เตียวเหียนไปทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่ราชธานี ฮูโต๋ โจโฉเห็นเตียวเหียนเป็นหัวแรงสำคัญของซุนเซก ก็กักตัวไว้ไม่ยอมให้กลับ พอซุนเซกตายแล้วโจโฉยอมให้เตียวเหียนกลับมาช่วยซุนกวน โดยเชื่อว่า จะภักดีต่อโจโฉ

ที่ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) บรรยายว่า “เตียวเหียนจึงแกล้งอุบาย” ขณะที่ วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า “เตียวเหียนทัดทาน”

บ่งบอก การเรียบเรียงของ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นการขยายความ ขณะที่การเรียบเรียงของ วรรณไว พัธโนทัย และ พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ตามที่ปรากฏในสำนวนจีน

มองอย่างเปรียบเทียบ สภาพการณ์ทางด้านโจโฉ ค่อนข้างเป็นมิตร เพราะน้ำหนักแห่งคำพูดจากเตียวเหียน

ขณะเดียวกัน โจโฉเองก็คาดหวังความเป็นมิตรจากซุนกวน จึงได้ส่งเตียวเหียนกลับ

การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมือง การทหาร ในแคว้นง่อจากซุนเซกมายังซุนกวน จึงดำเนินไปด้วยความราบรื่น

น่าสนใจว่าฝ่ายของอ้วนเสี้ยวประเมินอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน