อุทาหรณ์! เด็กจีนกินลิ้นจี่มากเกินไป เกิดพิษเฉียบพลัน น้ำตาลในเลือดต่ำ อันตรายถึงชีวิต แพทย์ชี้ผลสุกงอมทานได้ แต่อย่าทานขณะท้องว่าง

ในช่วงกลางฤดูร้อน ผลไม้สดหลากหลายชนิดเริ่มจำหน่ายตลาด ลิ้นจี่กลิ่นหอมหวานแสนอร่อยก็หนึ่งในผลไม้เป็นที่นิยมมาก แต่ใครจะรู้ว่ามีอันตรายมากกว่าที่ สื่อไต้หวันรายงาน เด็กหญิงอายุ 8 ขวบจากประเทศจีนเพิ่งประสบพิษเฉียบพลันด้วยภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เหตุเกิดจากรับประทานลิ้นจี่มากเกินไปจนอันตรายถึงชีวิต พร้อมได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “โรคลิ้นจี่” ในตำนาน

ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น โรงพยาบาลในมณฑลเหอเป่ย์ออกมาเตือนอุทาหรณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้เด็กหญิงมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากการทานลิ้นจี่และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพิษจากลิ้นจี่เฉียบพลัน ระหว่างการวินิจฉัย แพทย์ทราบว่าเด็กและแม่ทานลิ้นจี่ที่บ้านเป็นจำนวนมาก

ในระหว่างขั้นตอนการกิน เด็กจะค่อยๆ มีอาการเมื่อยล้า ใจสั่น เหงื่อออก และอาการอื่น ๆ หลังจากวัดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดของเด็กมีเพียง 3.0 ซึ่งเป็นภาวะต่ำ ปัจจุบันพ้นขีดอันตรายแล้ว

แพทย์กล่าวว่า สารไฮโพไกลซิน เอ (hypoglycin A) และ methylenecyclopropylglycine ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้เป็นสารพิษ จะไปขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ acetyl-CoA dehydrogenase ที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ พร้อมต่อต้านกระบวนการสร้างกลูโคสในร่างกายที่จะไปเลี้ยงสมองและยับยั้งการใช้พลังงานจากกรดไขมัน ส่งผลให้มีอาการปวดหัว ขาดพลังงาน ไม่สบาย เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ รวมถึงเกิดภาวะเลือดเป็นกรด เป็นอันตรายและเสียชีวิต

แพทย์ยังแนะนำด้วยว่าผู้ใหญ่ไม่ควรบริโภคลิ้นจี่เกิน 15 ลูกต่อวันและเด็กควรบริโภคน้อยกว่า 5 ลูก การบริโภคที่มากเกินไปขณะท้องว่างอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ, คลื่นไส้, เหงื่อออก, ใจสั่น, อ่อนเพลีย, มองเห็นภาพซ้อน, ไม่ตอบสนอง, ขาดสมาธิ รวมถึงปวดท้องสามารถนำไปสู่อาการโคม่า อาการชักและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

หากมีอาการไม่รุนแรง แพทย์แนะนำให้ทานน้ำตาลก้อน ดื่มน้ำน้ำตาล หรือน้ำผลไม้ เพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ หากอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้น ให้ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด


นพ. เฉิน จือจิน หัวหน้าแพทย์ของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์การแพทย์ฉีเหม่ย ให้องค์ความรู้ผ่านทางเฟซบุ๊กว่า ลิ้นจี่มีสารพิษที่สามารถยับยั้งการผลิตกลูโคส แต่การจะทานแล้วพบพิษจะมี 2 – 3 เงื่อนไข เช่น ท้องว่าง การกินในปริมาณมาก และภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งทางนพ. เฉิน จือจิน เผยหากรับประทานตามปกติไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกมากเกินไป ตามเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ปริมาณวิตามินซีในลิ้นจี่ใกล้เคียงกับผลกีวีซึ่งมีหน้าที่ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

ตามรายงานของ 163 ที่หลาย ๆ คนคงสงสัยว่าลิ้นจี่เองก็มีน้ำตาล ทำไมถึงทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำ ความหวานของผลไม้ถูกกำหนดโดยน้ำตาลสองชนิด คือ ซูโครส (ซึ่งสามารถไฮโดรไลซ์เป็นกลูโคสและฟรุกโตสได้) และฟรุกโตส กิจกรรมระดับเซลล์ทั้งหมดในร่างกายนั้นขับเคลื่อนโดยกลูโคส น้ำตาลในลิ้นจี่ส่วนใหญ่เป็นฟรุกโตส ซึ่งร่างกายไม่สามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้โดยตรงจึงต้องให้ตับแปลงเป็นกลูโคสก่อนที่ร่างกายมนุษย์จะนำไปใช้ได้

ดังนั้น การรับประทานลิ้นจี่ในปริมาณมากในขณะท้องว่างอาจนำไปสู่อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ง่าย และในบางคนจะมีอาการ เช่น เบื่ออาหาร ท้องร่วง และบวมน้ำ เนื่องจากร่างกายขาดเอนไซม์ที่จำเป็นในการเผาผลาญฟรุกโตส

เป็นที่น่าสังเกตว่า ลิ้นจี่ยังมี α-methylenecyclopropylglycine และ hypoglycine A ซึ่งมีปริมาณสารสูงในลิ้นจี่ที่ไม่สุก การรับประทานลิ้นจี่จำนวนมากโดยไม่รับประทานอาหารหลักจะทำให้ไกลโคเจนในร่างกายหมดสิ้น และร่างกายจะใช้ไขมันและโปรตีนเป็นพลังงาน แต่ส่วนประกอบทั้งสองข้างต้นจะยับยั้งกระบวนการนี้ ส่งผลให้ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ

หากการรักษาล่าช้าและอาการโคม่าภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นเวลานานกว่า 5 ชั่วโมง จะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมทั่วร่างกาย ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงาน ขาดออกซิเจน โคม่า อวัยวะหลายส่วนล้มเหลว และเสียชีวิต ในขณะนี้ การเสริมกลูโคสเพียงอย่างเดียวไม่สามารถบรรลุผลการรักษาได้ และต้องใช้มาตรการการรักษาที่ครอบคลุม

นอกจากนี้ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในประเทศไทยยังไม่เคยพบรายงานการเสียชีวิตจากการกินลิ้นจี่ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับรายงานข่าวดังกล่าว ขอให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะข้อมูลวิชาการที่มีในปัจจุบันนั้น ชี้ว่าลิ้นจี่ที่สุกงอมแล้วสามารถกินได้ตามปกติ ดังนั้น ทางทีมข่าวสดจะขอแนะนำวิธีการป้องกันว่า ไม่ควรทานลิ้นจี่ดิบ ไม่ควรทานลิ้นจี่อย่างเดียวทั้งวันแทนอาหาร และไม่ควรขาดสารอาหาร

ขอบคุณที่มาจาก 163 Ctwant สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน