“เสถียร จันทิมาธร”

ระหว่างหนังสือสามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) กับสำนวนใหม่ วรรณไว พัธโนทัย บรรยายเหตุการณ์หลังกลับจากกังแฮของโลซกกับขงเบ้งแตกต่างกัน

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า

ครั้นโลซกมาถึงเมืองกังตั๋งจัดแจงที่อยู่ให้แก่ขงเบ้งโดยสมควรแล้วก็เข้าไปหา ซุนกวน ซุนกวนจึงถามว่า

“ท่านไปสืบกิจการ ณ เมืองกังแฮนั้นยังเป็นประการใดบ้าง”

โลซกจึงว่า “ข้าพเจ้าไปสืบกิจการนั้นได้แจ้งมาอยู่ แต่ทว่าจะบอกแก่ท่านบัดนี้ยังมิชอบกลก่อน”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า ฝ่ายโลซกอำลาเล่าปี่ เล่ากี๋ แล้วพาขงเบ้งขึ้นเรือมุ่งไปยังเมืองชีสอง ทั้ง 2 สนทนาหารือกันในเรือ โลซกบอกขงเบ้งว่า “เมื่อท่านพบท่านแม่ทัพซุนกวนขออย่าพูดความจริงว่าโจโฉมีทหารมากมายก่ายกอง”

ขงเบ้งตอบว่า “ข้อนั้นท่านอย่ากังวลเลยข้าพเจ้าเตรียมคำพูดไว้เรียบร้อยแล้ว”

ครั้นเรือถึงฝั่งชีสองโลซกเชิญขงเบ้งขึ้นไปพัก ณ เรือนรับรองแล้วรีบเข้าไปหาซุนกวน ขณะนั้นซุนกวนกำลังประชุมขุนนางฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊อยู่ ครั้นแจ้งว่าโลซกกลับมาถึงแล้วก็ให้หาตัวเข้ามาถามว่า

“ท่านไปสืบข่าวเมืองกังแฮได้ความประการใดบ้าง”

โลซกตอบว่า “ข้าพเจ้ารู้อะไรมาหลายอย่างขอเวลาให้ข้าพเจ้าจัดทำรายงานสักเล็กน้อยก่อนเถิด”

เมื่อตรวจสอบกับหนังสือสามก๊กฉบับสมบูรณ์ เล่มกลาง ตอนที่ 41 สำนวนแปลและเรียบเรียงของ พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช

ปรากฏว่าเนื้อความตรงกับสำนวน วรรณไว พัธโนทัย

ท่อนนับแต่เดินทางจากกังแฮมาถึงกังตั๋งตรงกัน แต่ที่แตกต่างจากสำนวน วรรณไว พัธโนทัย และ พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช คือ สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้ตัดเหตุการณ์ระหว่างขงเบ้งนั่งเรือมากับโลซก เหมือนกับไม่ให้ความสำคัญมากนัก

ขณะเดียวกัน ข้อขอร้องในเรื่อง “กำลังพล” ทัพโจโฉจากโลซกเช่นนี้ สำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อาจประเมินว่ามีอยู่ในอีกตอนอยู่แล้ว หากตัดท่อนแรกออกคงไม่เป็นไร

ทั้งๆ ที่ความจริง ข้อ “ขอร้อง” ของ โลซกในเรื่อง “กำลังพล” ทัพโจโฉนี่สำคัญ

หากอ่านอย่างประสานกับ “เนื้อความ” ตอนที่โลซกเดินทางไปพบกับ ซุนกวนก็จะประจักษ์ว่ามีความสำคัญอย่างไร และเหตุใดสำนวน เจ้าพระยา พระคลัง (หน) จึงตัดคำขอร้องจากโลซกและการยอมรับในลักษณะบ่ายเบี่ยงจากขงเบ้ง

ต้องอ่าน

สํานวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า ซุนกวนจึงเอาสาส์นของโจโฉคลี่ให้ โลซกดู “เมื่อวานนี้โจโฉให้คนถือสาส์นฉบับนี้มาหาเราเราจึงปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้” โลซกรับสาส์นนั้นมาอ่าน ความว่า

“ข้าพเจ้าได้รับพระราชโองการให้ยกทัพมากำจัดอริราชศัตรูทางใต้ เวลานี้ได้กำจัดเล่าจ๋องลงแล้ว อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงมีความชื่นชมยินดีเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยข้าพเจ้าเป็นอันมาก บัดนี้ ข้าพเจ้ายกทหารผู้แกล้วกล้าจำนวน 100 หมื่น นายทหารหลายพันมาถึงนี่แล้ว ใคร่จะขอเชิญท่านออกมาเล่นป่า ณ แดนเมืองกังแฮ เพื่อพบปะปรึกษาช่วยกันคิดอ่านกำจัดเล่าปี่เสีย แล้วเราทั้ง 2 ฝ่าย จะได้แบ่งดินแดนกันใหม่และทำสัตย์สาบานเป็นมิตรกันตลอดไป หวังว่าท่านคงจะไม่ทำให้ข้าพเจ้าผิดหวังเป็นแน่ ขอได้โปรดตอบให้ข้าพเจ้าทราบโดยด่วนด้วย”

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ก็ระบุ

พระเจ้าเหี้ยนเต้ให้เราคุมทหาร 50 หมื่นมากำจัดเล่าจ๋อง บัดนี้ก็ได้เมืองซงหยงกับหัวเมืองเกงจิ๋วแล้วอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงก็มีความยินดีเป็นอันมาก แลเราก็ซ่องสุมทหารได้ถึง 100 หมื่น นายทหารพันหนึ่ง แต่มีน้ำใจคิดถึงท่านจะใคร่พบกันสักครั้งหนึ่งขอให้ท่านออกมาเที่ยวเล่น ณ แดนเมืองกังแฮจะได้ช่วยกันคิดอ่านกำจัดเล่าปี่ผู้เป็นศัตรูแผ่นดินเสีย ถ้าสำเร็จแล้วเราจะแบ่งเมืองเกงจิ๋วให้กับท่านกึ่งหนึ่ง

“แล้วเราจะร่วมสาบานไว้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ท่านจะเห็นประการใดก็ให้มีหนังสือตอบมาให้แจ้ง”

สะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจไปกังแฮของโลซกโดยความเห็นชอบของซุนกวนเป็นการตัดสินใจก่อนได้รับสาส์น

สำนวนแปลระหว่าง เจ้าพระยาพระคลัง(หน) กับ วรรณไว พัธโนทัย อาจต่างกันบ้าง เป็นไปตามสำนวนแต่ละยุคสมัย

แต่จำนวนกำลังทัพที่โจโฉอ้างในสาส์นนั้นตรงกัน นั่นก็คือ จำนวน 100 หมื่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน