“เสถียร จันทิมาธร”

ข้ออ้างอิงในเรื่อง “รถเทียมวัว” จากปากของโลซกนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารสามก๊กจี่ หรือซานกัวจื้อ แต่เมื่อหลอก้วนจงนำมาปรับและแต่งเป็นของตน คำว่า “รถเทียมวัว” ก็หายไป

การไม่ปรากฏในสามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) อาจสามารถเข้าใจได้

เพราะเป็นการแปลแบบเก็บความแล้วนำมาเรียบเรียง แต่การไม่ปรากฏในสำนวน วรรณไว พัธโนทัย และสำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ด้วยถือว่า “น่าคิด”

มิใช่เพราะว่า วรรณไว พัธโนทัย ละเลยหรือมองข้าม มิใช่เพราะว่า พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ละเลยหรือมองข้าม หากแต่น่าจะมาจาก “หลอก้วนจง”

ยิ่งหากอ่านหนังสือ “7 ยอดกุนซือในสามก๊ก” อัน อดุลย์ รัตนมั่นเกษม เรียบเรียงก็จะยิ่งบังเกิดความแจ่มชัด

“เวลานี้เราจะยอมจำนนต่อโจโฉย่อมทำได้แต่ท่านจะทำเช่นนี้ไม่ได้ ถ้าข้ายอมจำนนต่อโจโฉข้าก็ยังคงได้เป็นขุนนาง นั่งเกวียนเทียมโค มีทหารคอยติดตาม คบหาเป็นมิตรกับขุนนางทั้งหลายได้เหมือนเดิม และวันหนึ่งยังอาจได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองสักแห่ง

“แต่ถ้าท่านยอมจำนนต่อโจโฉท่านจะได้อะไรมาบ้าง ข้าหวังใจว่าท่านจะตัดสินใจได้โดยเร็ว อย่าได้ฟังเสียงคนพวกนั้นเลย”

เท่ากับยืนยันว่าเป็นการแปลมาจากพงศาวดารสามก๊กจี่ ภาคง่อก๊ก ประวัติโลซกโดยตรง มิได้เป็นการแปลมาจากสามก๊กฉบับหลอก้วนจงอย่างแน่นอน

เมื่อตอบคำถามที่ว่า “ทำไมโลซกนั่งรถวัวเข้าท้องพระโรง” ผ่านหนังสือ “101 คำถามสามก๊ก” เซวียนปิงซ่าน ได้ให้อรรถาธิบายเสริมว่า

สาระสำคัญที่โลซกพูดก็คือ ตัวเขาเข้าอ่อนน้อมต่อโจโฉได้เพราะยังมีโอกาสได้นั่งรถวัวไปทำราชการ และต้องได้เป็นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหรือมณฑล แต่ซุนกวนจะยอมอ่อนน้อมไม่ได้

คำพูดนี้แสดงโดยนัยว่า ในยุคนั้นปกติขุนนางผู้ใหญ่ของกังตั๋งไม่ได้นั่งรถม้าเข้าท้องพระโรงแต่นั่งรถวัว พงศาวดารซ่งซู บทจารีต 5 บันทึกเรื่องรถวัวไว้ว่า “รถวัวอยู่ในจำพวกรถประทุน เป็นยวดยานที่ท้าวพระยาผู้ยากจนนั่ง ต่อมากลับกลายเป็นทรงเกียรติ ซุนกวนกล่าวว่า “รถเทียม 8โค” ก็คือรถวัวแบบนี้”

สาระของข้อความตอนนี้คือ รถวัวเป็นพาหนะที่ขุนนางชั้นสูงผู้ยากจนนั่ง แต่พอถึงปลายราชวงศ์ฮั่นมาจนถึงราชวงศ์เหนือ-ใต้ รถวัวกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสูงศักดิ์ เวลาซุนกวนเดินทางจะนั่งรถเทียมโค 8 ตัว

สาเหตุที่ทำให้เกิดสถาน การณ์เช่นนี้ เนื่องจากช่วงนั้นแคว้นกังตั๋งเป็นปฏิปักษ์กับ โจโฉซึ่งอยู่ภาคเหนือ การค้าขายม้าของ 2 ฝ่ายนี้ออกจะไม่สะดวก ม้าเป็นพาหนะสำคัญในการศึกใช้ในสงครามอยู่เสมอ ในชีวิตประจำวันจึงต้องใช้วัวเป็นหลัก

ในทางกลับกัน ทางภาคเหนือของโจโฉไม่มีเรื่องนั่งรถวัวเวลาเดินทาง

คําอ้างอิงของโลซกจึงกระทบเข้ากับความรู้สึกของซุนกวนอย่างลึกซึ้ง มีผลในการตัดสินใจจะทำศึกหรือยอมจำนนอย่างมีนัยสำคัญ

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า

โลซกจึงว่า “บัดนี้ ข้าพเจ้าไปสืบกิจการ ณ เมืองกังแฮนั้นข้าพเจ้าได้พาตัวขงเบ้ง น้องชายจูกัดกิ๋นมา ถ้าท่านจะใคร่รู้ตื้นลึกหนักเบาในใจโจโฉประการใดขอให้หาขงเบ้งมาไต่ถามดูก็จะแจ้ง”

ซุนกวนจึงว่า “อาจารย์ฮกหลงมาอยู่ที่นี่หรือ”

โลซกจึงว่า “ข้าพเจ้าพามาจัดแจงให้อาศัยอยู่นอกเมือง”

ซุนกวนได้แจ้งดังนั้นก็ยินดีจึงว่า “เวลาวันนี้ก็จวนค่ำแล้ว ต่อพรุ่งนี้เช้าท่านจึงพาขงเบ้งเข้ามา”

ซุนกวนก็สั่งให้ตกแต่งที่ออกขุนนางให้เป็นสง่า หวังจะอวดขงเบ้ง กำหนดขุนนางทั้งปวงให้เข้ามาพร้อมกันในเวลาเช้าให้สิ้น

สามก๊กสำนวน วรรณไว พัธโนทัย อ้างคำซุนกวนว่า

“เวลานี้ก็ค่ำแล้ว อย่างเพิ่งให้ท่านอาจารย์มาพบเลยทุเลาไว้พรุ่งนี้เราจะเรียกขุนนางฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊มาประชุมพร้อมกัน แล้วจะได้ดูว่าใครเป็นวีรชนแห่งกังตั๋งที่แท้จริงแล้วจึงค่อยปรึกษาหารือกันต่อไป”

โลซกรับคำแล้วอำลาไป

สามก๊กสำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช อ้างคำซุนเฉวียนว่า “วันนี้มืดแล้วยังไม่พบ พรุ่งนี้เรียกประชุมฝ่ายบุ๋นบู๊ให้พบบรรดาปราชญ์ของเจียงตงดูก่อนแล้วค่อยเปิดประชุมหารือ”

หลู่ซู่รับคำ

จากนี้ไปจึงจะเป็นฉากใหญ่ ฉากสำคัญ อันไม่เพียงแต่ทรงความหมายต่อกังตั๋ง หากแต่ยังทรงความหมายต่อเล่าปี่

เป็นครั้งแรกที่ซุนกวนพบขงเบ้ง

เป็นการพบโดยที่ขงเบ้งมี “วาระ” อันเป็นของตนอย่างเด่นชัดว่าต้องการอะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน