“เสถียร จันทิมาธร”

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า ครั้นเวลาเช้าโลซกจึงให้ไปหาขงเบ้งบอกว่า “ซุนกวนให้เรามาพาท่านเข้าไป แลซึ่งเราเจรจาแก่ท่านกลางทางนั้นอย่าลืมเสีย”

ขงเบ้งหัวเราะแล้วจึงตอบว่า “ท่านอย่าวิตกเลย”

โลซกพาขงเบ้งมาหาซุนกวน ครั้นมาถึงที่ชั้นนอกขงเบ้งเห็นขุนนางซึ่งเป็นที่ปรึกษาแต่งตัวนั่งเป็นแถวพร้อมกันอยู่จึงเข้าไปคำนับตามประเพณี

แล้วต่างคนต่างสนทนาด้วยกัน

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย ไม่แตกต่างมากนักแต่ก็มี “รายละเอียด” การถอดออกมาไม่ควรให้ผ่านเลย

รุ่งขึ้นโลซกไปพบขงเบ้งที่เรือนรับรองแล้วกำชับขงเบ้งอีกว่า “วันนี้ท่านพบกับนายข้าพเจ้าขออย่าเพิ่งแพร่งพรายว่าโจโฉมีทหารมากมายเป็นอันขาด”

ขงเบ้งหัวเราะแล้วว่า “ข้าพเจ้าจะแบ่งรับแบ่งสู้ดูท่าทีให้เหมาะจะไม่ให้เสียท่าเป็นอันขาด”

โลซกจึงพาขงเบ้งมาหาซุนกวน พอมาถึงท้องพระโรงแลเห็นเตียวเจียวและขุนนางฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊อีก 20 กว่าคน สวมหมวกยศทรงสูง คาดรัดพัสตร์ใหญ่ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ นั่งอยู่พร้อมหน้า ขงเบ้งก็เข้าไปกระทำคำนับตามประเพณีถามชื่อแซ่ของแต่ละท่าน

แล้วเข้าในที่นั่งของแขกเมือง

สำนวนแปล พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช สั้นกระชับ รุ่งขึ้นหลู่ซู่ไปหาขงเบ้งกำชับว่า “วันนี้เจอนายเรา ท่านอย่าพูดว่าทหารเฉาเชามาก”

ขงหมิ่งหัวเราะว่า “เลี่ยงรู้ว่าจะพูดอย่างไรไม่ให้เสียการ”

ด่านของ “ที่ปรึกษา” ด่านของ “ขุนนาง” นับว่า “สำคัญ”

หนังสือ “ขุดกรุสมบัติสามก๊ก” อัน บุญศักดิ์ แสงระวี แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาจีนของ “เลี่ยวเจีย” ระบุว่าเป็นสถานการณ์ในปี ค.ศ.208

และสรุปอย่างรวบรัดว่า

“เมื่อขงเบ้งเดินทางมาถึงง่อก๊กแล้ว ก่อนอื่นก็เผชิญกับการท้าทายทางคารมกับฝ่ายที่เสนอให้ยอมจำนน นี่คือ เรื่องราวซึ่งมีชื่อเรียกขานกันในสามก๊กว่า “ถล่มเหล่าเมธีด้วยฝีปาก”

ด่านแรกที่ขงเบ้งประสบคือด่านเตียวเจียวอันถือว่า “อาวุโส” สูงสุด

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า เตียวเจียวเห็นขงเบ้งรูปร่างสะคราญ เป็นคนช่างพูดช่างเจรจาเฉลียวฉลาดจึงคิดว่าขงเบ้ง มานี้ชะรอยจะมาพูดเกลี้ยกล่อมดูแยบคายเป็นมั่นคงจำจะเจรจาด้วย กำลังปัญญาแลความคิดจะว่าประการใดจึงว่า

“แต่ก่อนข้าพเจ้าแจ้งว่าอาจารย์ ฮกหลงอยู่ตำบลเขาโงลังกั๋งเขาเลื่องลือว่ากอปรด้วยสติปัญญามาก เล่าปี่อุตส่าห์ทำความเพียรถึง 3 ครั้งจึงได้ตัวท่านมา เล่าปี่มีความยินดีดังปลาได้น้ำมีใจกำเริบคิดการใหญ่หลวงหมายจะทำการเอาเมืองเกงจิ๋ว”เป็นไฉนเมืองเกงจิ๋วจึงกลับไปให้ได้แก่โจโฉเล่า ท่านคิดอ่านประการใด”

สํานวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า ขงเบ้งได้ฟังดังนั้นคิดในใจว่า “อันเตียวเจียว ผู้นี้เป็นที่ปรึกษามือเอกของซุนกวน ถ้าแม้นมิได้โต้ตอบให้จำนนแก่ถ้อยคำที่ไหนจะเจรจากับซุนกวนให้สำเร็จได้”

ขงเบ้งจึงตอบว่า

“ซึ่งจะคิดการเอาแผ่นดินฮั่นมาไว้ในอำนาจนั้นง่ายนักดุจพลิก แต่ทว่า เล่าปี่นายของข้าพเจ้าเป็นคนซื่อถือสัตย์ ไม่ปรารถนาจะชิงสมบัติของตระกูลเดียวกันจึงพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะรับแผ่นดินเกงจิ๋วไว้ โจโฉจึงมีใจกำเริบกระทำการอันบ้าคลั่งมาได้ถึงเพียงนี้

“ทุกวันนี้ เจ้านายของข้าพเจ้าตั้งทัพอยู่ที่เมืองกังแฮกำลังเตรียมการอันสำคัญแสนวิเศษซึ่งยากที่คนทั้งปวงจะหยั่งรู้ได้”

สำนวนแปล พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช แปลตอนท้ายประโยคออกมาว่า

“ตอนนี้นายของข้าพเจ้าอยู่เจียงเซี่ย มีแผนล้ำลึก พวกปัญญาต่ำทรามคิดไม่ถึงหรอก”

ตรงนี้แหละที่ “ยาขอบ” สรุปอย่างได้อารมณ์ว่า พอกันทีสำหรับการพูดจาอ่อนน้อมถ่อมตัวในฐานแขกแปลกหน้าเข้ามาในชุมนุมของเขาต่อไป เพราะเดี๋ยวนี้ก็เป็นอันกระจ่างแล้วว่ากลิ่นอากาศของที่ชุมนุมนี้เป็นอย่างไร

ฉะนี้เอง วรรณไว พัธโนทัย จึงแปลตอนที่ 43 ออกมาว่า “ขงเบ้งเอาชนะปวงปราชญ์ด้วยลิ้น” ขณะที่ บุญศักดิ์ แสงระวี ถอดออกมาว่า “ถล่มเหล่าเมธีด้วยฝีปาก”

รายละเอียด “วิวาทะ” ระหว่างขงเบ้งกับเหล่า “เมธี” แห่งแคว้นง่อครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นสุดยอดแห่งโวหาร อันขงเบ้งเชือดเฉือนฝ่ายตรงกันข้าม

ไม่ว่าจะเป็นเตียวเจียว ไม่ว่าจะเป็นยีหวน ไม่ว่าจะเป็นโปเจ๋า

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่คณะที่ปรึกษาจำนวนมากที่นำโดยเตียวเจียวนี้มีความโน้มเอียงที่จะยอมจำนน ศิโรราบให้กับทัพโจโฉ และไม่เห็นด้วยกับการดึงเอาเล่าปี่มาเป็นพันธมิตร

อะไรคือจุดแข็งของโจโฉ อะไรคือจุดอ่อนของง่อก๊ก อะไรคือจุดอ่อนของ เล่าปี่ จึงน่าศึกษา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน