“เสถียร จันทิมาธร”

ระหว่างเตียวเจียวกับจิวยี่ถือว่าเป็น “ที่ปรึกษา” สำคัญทั้งคู่ เป็นเหมือนมรดกอันซุนเซกกำหนดไว้ก่อนตายจึงทรงบทบาทและมากด้วยความหมาย

ขอเริ่มจากสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน)

เตียวเจียวจึงถามว่า “ท่านไปทำการอยู่ ณ เมืองกวนหยงนั้นยังรู้ข่าวกิจราชการฉันใดบ้าง”

จิวยี่บอกว่า “ไม่รู้”

เตียวเจียวจึงว่า “บัดนี้โจโฉยกกองทัพมาตั้งอยู่ชายทะเลเมืองเกงจิ๋วให้มีหนังสือมาเกลี้ยกล่อมซุนกวนนายเราจะให้ออกไปหาดังหนึ่งจะไม่คิดทำร้ายแต่เห็นว่าจะไม่สุจริตจะกลับทำร้ายเราเป็นมั่นคง ข้าพเจ้าทั้งปวงได้ปรึกษาว่าจะให้ซุนกวนออกไปอ่อนน้อมตามประเพณี

“บัดนี้โลซกได้พาขงเบ้งมาว่ากล่าวนายเราจะให้ออกไปต่อสู้กับโจโฉทั้งโลซกก็เห็นชอบไปด้วย ข้าพเจ้าทั้งปวงมิเต็มใจด้วยเห็นว่าขงเบ้งคนนี้ผิดใจกับโจโฉคิดอ่านจะตอบแทนแก้แค้นกันอยู่จะเชื่อถือถ้อยคำนั้นมิได้

“เนื้อความทั้งนี้ก็ยังมิตกลงกันคอยท่าท่านอยู่ บัดนี้ ท่านมาถึงแล้วจงไปปรึกษาให้เห็นผิดแลชอบ”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย บรรยายบางท่อนว่า

“มาตรว่าโจโฉมิได้แสดงเจตนาว่าจะเข้าฮุบแผ่นดินของเราก็ตามที พวกเราได้แนะนำนายของเราให้ยอมอ่อนน้อมต่อโจโฉเสียเพื่อมิให้อันตรายเข้ามาถึงกังตั๋ง แต่โลซกกลับไปนำขงเบ้งที่ปรึกษาเล่าปี่มาจากกังแฮเกลี้ยกล่อมให้นายเราเข้าสู้กับโจโฉหวังจะแก้เผ็ดที่เพิ่งแพ้มาหยกๆ โลซกงมงายมิได้ตระหนักถึงความจริงในข้อนี้

“เวลานี้ใครๆ ก็คอยฟังคำชี้ขาดของท่านอยู่”

ท่าทีของจิวยี่มากด้วยความระมัดระวัง เห็นได้จากคำถามของเตียวเจียวที่ว่า “ท่านแม่ทัพทราบข่าวกังตั๋งมีภัยแล้วหรือยัง” คำตอบของจิวยี่คือ “ข้าพเจ้ายังมิแจ้ง”

ทั้งๆ ที่ความจริงจิวยี่รู้

สำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) คือ “พอจิวยี่รู้ว่าโจโฉยกกองทัพมาตั้งอยู่ชายทะเลเมืองเกงจิ๋วจะมาตีเมืองกังตั๋งก็รีบมา”

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย คือ “ฝ่ายจิวยี่แจ้งว่าโจโฉยกทัพใหญ่มาถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำฮั่นก็รีบกลับมาชุมนุมแม่ทัพนายกองเพื่อปรึกษาการทัพ ณ เมือง ชีสอง ดังนั้น ก่อนที่คนของซุนกวนจะออกเดินทางจิวยี่ก็เข้ามาถึงก่อนแล้ว”

สำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช คือ “เดิมโจวอวี๋อยู่โผหยาง ฝึกทหารทางน้ำอยู่ ได้ข่าวเฉาเชามาถึงน้ำฮั่นก็รีบกลับไฉซางเพื่อมาปรึกษาเรื่องการทหาร คนที่ส่งยังไม่ทันไปโจวอวี๋ก็มาถึงก่อนแล้ว

อาจไม่รู้รายละเอียดในสาส์นของโจโฉ แต่ก็รู้การเคลื่อนไหวของโจโฉ

สามก๊กสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายว่า จิวยี่ได้ฟังเตียวเจียวว่า ดังนั้นจึงถามว่า “ท่านทั้งปวงนี้ปรึกษาที่จะให้ออกไปคำนับโจโฉนั้นเห็นพร้อมกันแล้วหรือ”

เตียวเจียวจึงว่า “ที่ปรึกษาทั้งปวงก็เห็นพร้อมทั้งสิ้น”

จิวยี่จึงว่า “ที่จะไปคำนับโจโฉนั้นเราก็เห็นด้วยแต่ว่าเวลาวันนี้ท่านพากันกลับไปก่อนเถิด เวลาพรุ่งนี้เราจะไปหาซุนกวนจึงจะว่ากล่าวให้ตกลงกันทีเดียว”

ที่ปรึกษาทั้งปวงก็ลาไป

สำนวน วรรณไว พัธโนทัย ระบุคำพูดจิวยี่ว่า “ซึ่งจะอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉนั้น ข้าพเจ้าเห็นด้วยมานานแล้ว ขอให้พวกท่านกลับไปก่อนพรุ่งนี้ข้าพเจ้าจะพบหารือกับนายเราแล้วเราก็จะตัดสินใจ”

เตียวเจียวกับขุนนางทั้งปวงจึงอำลากลับไป

สำนวน พญ.กัลยา สุพันธุ์วณิช ระบุคำพูดจิวยี่ว่า “ข้าก็คิดว่าจะยอมแพ้ ขอให้ ท่านกลับไปก่อน พรุ่งนี้พบนายท่านข้าค่อยปรึกษาตัดสินใจ”

จางเจากับพวกจึงกลับไป

ไม่ว่าสำนวน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ไม่ว่าสำนวน วรรณไว พัธโนทัย ไม่ว่าสำนวน แพทย์หญิงกัลยา สุพันธุ์วณิช

ล้วนแปลและเรียบเรียงจาก “หลอกวนตง”

ดังนั้น หลักฐานที่ว่าจิวยี่มีความคิด “คำนับโจโฉ” หรือ “อ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ ต่อโจโฉ” หรือ “ข้าก็คิดว่าจะยอมแพ้” จึงมี “ฐาน” ที่มาอย่างเดียวกัน

เหมือนกับว่า “ตัวแปร” จะมาจากขงเบ้งประสานเข้ากับโลซกและรวมถึง ซุนกวน แต่เมื่ออ่านต่อไปอีกเพียงเล็กน้อยปรากฏว่า

“ตัวแปร” มีมากกว่านั้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน